นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2562 ว่า คุณภาพน้ำ 59 แม่น้ำสายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมากร้อยละ 2 เกณฑ์ดีร้อยละ 32 เกณฑ์พอใช้ร้อยละ 48 และเกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 18 คุณภาพน้ำผิวดินแต่ละภาคมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงจากปี 2561 ภาคกลางมีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น โดย 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในปี 2562 ได้แก่ ตาปีตอนบน กก แควน้อย ลี้ เพชรบุรีตอนบน และ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ ลำตะคองตอนล่าง เจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง ส่วนคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงพอใช้ พื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ได้แก่ เกาะล้าน อ่าวพร้าว (เกาะเสม็ด) อ่าวบางสน เกาะพะงัน ในขณะที่บริเวณอ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ยังคงมี คุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก สาเหตุมาจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียจากบ้านเรือน อุตสาหกรรมการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีระบบจัดการของเสีย สำหรับคุณภาพอากาศ มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นละออง PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา
อธิบดี คพ.กล่าวด้วยว่า ในส่วนขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 28.7 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2561 ร้อยละ 3 ขยะมูลฝอยนำกลับไปใช้ประโยชน์ 12.6 ล้านตัน ร้อยละ 44 เป็นขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ และกำจัดอย่างถูกต้อง 10.3 ล้านตัน โดยปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกจัดการดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 11 สาเหตุมาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ส่วนขยะพลาสติกเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตันเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง.
...