ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวโครงการ วิจัย “การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” ว่า ประชาชนในหลายท้องถิ่นยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข แม้จะมีสิทธิการรักษาสุขภาพจากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของไทยแล้วก็ตาม โดยโครงการวิจัยนี้จะเป็นการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ ช่วยแก้ปัญหาชุมชนพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ต.บ้านนา จ.ตาก ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากอาจารย์พยาบาลพบว่า พื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ยังมีปัญหาทั้งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมถึงปัญหาสัญญาณการสื่อสาร เมื่อเจอผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง พยาบาลในพื้นที่จำเป็นต้องขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ ทำให้เกิดการตัดสินใจได้ช้า ทั้งนี้ จึงมีความร่วมมือกับทางอุทยานแห่งชาติ ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรชำนาญการ และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยผลลัพธ์จากการวิจัยในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประชากรหลังเขื่อนภูมิพล จำนวน 2,051 คน และพื้นที่โดยรอบ อ.สามเงา อีก 31,890 คน

รศ.ดร.วิไลวรรณ ทองเจริญ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และ ผอ.โครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี จากนั้นจึงจะขยายผลในอีก 5 พื้นที่ให้ได้รับบริการที่ทั่วถึง.