(ภาพ)ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะไปตรวจเยี่ยมดูงาน “โครงการสระสำรองน้ำดิบทับมา” อ.เมืองระยอง ในความรับผิดชอบ บมจ.จัดการและพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก (อีสท์ วอเตอร์) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใหม่รองรับปัญหาภัยแล้ง.
“ภัยแล้ง” ปีนี้รุนแรงจริงๆ แหล่งน้ำธรรมชาติแม่น้ำสายหลักมีสภาพแห้งขอด ส่วนเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดยักษ์หลายแห่งก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อย ไม่สามารถจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ทางการเกษตรได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างรุนแรง รวมทั้งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปาด้วย
ล่าสุด รัฐบาล ต้องสั่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งระดมเจาะบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นอีกทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจำนวน 526 บ่อ ส่วนพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เจาะบาดาลอีก 4 จุด เพื่อส่งน้ำเข้าระบบการประปาแจกจ่ายให้กับประชาชน บรรเทาความเดือดร้อน

...
ขณะเดียวกันการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ใน ภาคอุตสาหกรรม และการประปา เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลเช่นกันว่า จะมีน้ำเพียงพอในช่วงวิกฤติ “ภัยแล้ง” หรือไม่
เมื่อวันก่อน ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ได้นำคณะไปตรวจติดตามงานที่ ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดระยอง ของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์”
โดยมี นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กก.ผอ.ใหญ่ และผู้บริหารของอีสท์ วอเตอร์ ให้การต้อนรับ พร้อมนำตรวจเยี่ยมดูงานโครงการสระสำรองน้ำดิบทับมา อ.เมืองระยอง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กก.ผอ.ใหญ่ของ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวรายงานว่า อีสท์ วอเตอร์ มีพันธกิจมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำในระยะยาว
ผ่านการบริหารจัดการ ระบบขนส่งน้ำดิบ ผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ภาคตะวันออก เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญๆในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด สู่การให้บริการน้ำครบวงจรให้กับผู้ใช้น้ำ
“อีสท์ วอเตอร์ ยังนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาช่วยเสริมขีดความสามารถในการทำงานของระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อออกแบบระบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้น้ำแต่ละราย สร้างความมั่นใจให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ” นายจิรายุทธ กล่าว

...
พร้อมกันนี้ได้พัฒนาโครงการใหม่ๆร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่าเป็น “ผู้นำในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรของประเทศ”
นายจิรายุทธ เปิดเผยอีกว่า อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการรองรับแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประกอบด้วย 7 มาตรการด้วยกัน ได้แก่
1.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลง 10%
2.การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากบ่อดินเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา
3.เตรียมความพร้อมระบบสูบน้ำสระสำรองสำนักบก จ.ชลบุรี
4.ปรับปรุงสถานีสูบน้ำฉะเชิงเทรา (คลองเขื่อน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง
5.เชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ กับเชื่อมท่ออ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
6.เพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำท่อหนองปลาไหล-หนองค้อ
7.สูบน้ำจากแม่น้ำระยองไปยังสระสำรองน้ำดิบทับมา

...
นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ ยังสร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดเพื่อชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรน้ำ ผ่านหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภายใต้ โครงการ “สะกิดไทย ใส่ใจน้ำ”
นำเสนอหลักปฏิบัติการใช้น้ำรูปแบบใหม่ ด้วยการสื่อสารผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “URD” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเป็นหลักปฏิบัติให้กับทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำเพื่อช่วยให้ทรัพยากรน้ำเกิดความยั่งยืนและบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำในด้านต่างๆ ประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติ 3 ส่วนคือ คุ้มค่า,ควบคุม, คาดการณ์

...
ส่วนที่ 1 คุ้มค่า ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าสู่ความยั่งยืน โดยดึงหลักการของการ reduce, reuse, recycle เข้ามาช่วย (U)
ส่วนที่ 2 ควบคุม มีการจัดสรรน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่อใช้อย่างพอเพียงและเพียงพอต่อปริมาณน้ำที่มีการจัดสรรไว้อย่างระมัดระวัง (R)
ส่วนที่ 3 คาดการณ์ มีการวางแผนใช้น้ำให้พอดีกับพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของการใช้น้ำในแต่ละเดือนจนส่งผลกระทบถึงแหล่งน้ำ (D) เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
รองรับการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ
อีกทั้งจะช่วยขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และมีน้ำเพียงพอเพื่ออนาคตข้างหน้าอย่างแท้จริง.
ทีมข่าวภูมิภาค