หวายทะนอย...เป็นพืชโบราณอีกชนิดที่ถูกนำมาจัดโชว์ไว้ในงาน “ปู่ไดโนเสาร์ตะลุยพืชโบราณถิ่นล้านนา” ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 62
จัดเป็นเฟินดิน อิงอาศัยขึ้นตามพื้นดินที่มีการทับถมของอินทรียวัตถุ หรืออาจพบตามคาคบไม้ หรือตามต้นเฟินชายผ้าสีดา ลำต้นเล็กเป็นเหลี่ยมเหนือดิน มีสีเขียว สังเคราะห์แสงได้ แต่ไม่มีใบ ต้นสูงประมาณ 20-50 ซม. ที่แตกแขนงออกด้านข้างไปเรื่อยๆ อาจยาวถึง 80 ซม. โดยแยกสาขาเป็นคู่ๆ 3-5 ครั้ง
ผิวต้นมีติ่งเป็นเกล็ดเล็กๆ แตกเจริญออกมา มีอับสปอร์ที่กิ่ง เป็นเกล็ดเล็กๆ ไม่มีราก แต่มีไรซอยด์ ทำหน้าที่ดูดน้ำและเกลือแร่ รูปร่างเกือบกลมและมี 3 พู สีเขียว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนลำต้นใต้ดินสีน้ำตาลมีขนเล็กๆ ปกคลุม

การนำต้นมาตรวจสอบสายพันธุ์ ด้วยหลักพฤกษศาสตร์และพันธุศาสตร์ ทำให้ทราบว่า หวายทะนอยมีมานานร่วมล้านปี และคาดว่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ไดโนเสาร์กินเป็นอาหาร
ปัจจุบันหวายทะนอยเป็นพืชที่ค่อนข้างหายาก และพบขึ้นเป็นจำนวนน้อย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยในธรรมชาติมักขึ้นเป็นกอเล็กๆตามซอกหิน คบไม้ หรือตามพื้นดินที่มีใบไม้ผุสะสมไม่หนานัก ส่วนต้นแก่มีโตไฟต์ หรือรากที่มีลักษณะเป็นแผ่นเล็กๆ เจริญอยู่ติดผิวดินไม่มีคลอโรฟิลล์
ปลูกเลี้ยงได้ค่อนข้างยาก อาจต้องใช้ดินที่มีอินทรียวัตถุมากๆ กับเศษไม้ผุๆ ในการขยายพันธุ์โดยต้นที่เห็นเป็นสปอร์ มีอับสปอร์ที่กิ่ง เมื่อสปอร์แก่จะร่วงลงสู่ดินจะงอกเป็นต้นสร้างเซลล์สืบพันธุ์ต่อไป.