ปลดล็อก...กัญชา
ประเด็นร้อน ส่งท้าย “ปีจอ 2561” และคงหนีไม่พ้นกลายเป็น หนังเรื่องยาวที่สังคมจับตาใน “ปีกุน 2562” เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 คณะกรรมาธิการวิสามัญมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ..... โดยปรับแก้ไข 2 เรื่อง ประกอบด้วย แยกการควบคุมการอนุญาตการผลิตนำเข้า-ส่งออก จำหน่ายยาเสพติดหรือมีไว้ในครอบครองประเภท 2 และประเภท 5 ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยสาระสำคัญ คือ เปิดโอกาสให้สามารถนำยาเสพติดประเภท 5 คือ กัญชาและกระท่อม ไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปรักษาภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ได้
โดยเฉพาะการแก้ไขในส่วนของบท เฉพาะกาล ที่ เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เฉพาะวาระที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จำนวน 8 ตำแหน่ง คือ 1.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 3.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4.อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 5.อธิบดีกรมสุขภาพจิต 6.นายกแพทยสภา 7.นายกสภาการแพทย์แผนไทยและ 8.นายกสภาเภสัชกรรม
และเมื่อเจาะลึกไปอีกจะพบว่าการขออนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนั้นเน้นความสำคัญเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยพัฒนา รวมถึงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งต้องขออนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มีลักษณะตามกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด
จากการปลดล็อกกัญชาเพื่อให้ไทยสามารถนำสารที่มีส่วนประกอบหลักที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายและสมอง 2 ชนิด คือ tetrahydrocannabinol (THC) หรือสารกล่อมประสาท และ cannabidiol (CBD) สารที่ลดการอักเสบ ลดการกังวล ซึ่งนอกเหนือจากความหวังเพื่อนำประโยชน์จากพืชธรรมชาติอย่างกัญชามาใช้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือการนำสารกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด เพราะแม้จะมีการคลายล็อกกัญชา แต่ต้องอย่าลืมว่ากัญชา ก็ยังคงเป็นยาเสพติดที่ผู้ครอบครองต้องมีการขออนุญาตไม่เช่นนั้นจะต้องได้ รับโทษทั้งจำและปรับ
...
นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เล่าถึง สาเหตุที่ต้องปลดล็อกและนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ว่า ปัจจุบันวิทยาการมีความเจริญก้าวหน้ามีการศึกษาวิจัย จนมีความเชื่อว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะสามารถนำไปใช้รักษาเรื่องโรคลมชักที่ยาปัจจุบันยังรักษาไม่ได้ ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการปลายปลอกประสาทอักเสบที่แข็งเกร็ง และช่วยในเรื่องอาการปวด ทั้งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าไทยมีการใช้กัญชา
ใส่ในตำรับยากว่า 100 ตำรับ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ แต่ก็ยังติดขัดเรื่องกฎหมาย จึงต้องมีการปลดล็อกเพื่อสามารถนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างครบกระบวนการ ตั้งแต่ศึกษาวิจัย ปลูกและสกัด จนสามารถนำไปรักษาโรคได้ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะนำมาใช้เพื่อเรื่องนันทนาการแน่นอน
“การที่เรานำยาเสพติดมาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น เพราะบางโรคแม้จะมียาแผนปัจจุบันรักษาได้ แต่ยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรค เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เป็นต้น อาจช่วยเรื่องการลดอาการ แต่ยังไม่สามารถลดการดำเนินของโรคได้ ขณะที่มีคนที่ใช้กัญชาแล้วพบว่าสามารถลดการดำเนินของโรคได้ ดังนั้นจึงถือเป็นประโยชน์และไม่ทำให้คนไข้เสียโอกาส ทั้งนี้หากสามารถนำกัญชามารักษาโรคได้ ก็จะถือเป็นยาที่ประเทศ ไทยผลิตเองได้ ส่งผลให้ไทยไม่ต้องนำเข้ายาในชนิดที่ใช้สารสกัดจากกัญชาทดแทนได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาได้จำนวนมาก ดังนั้นถือเป็นโอกาสของไทยและผู้ป่วย และที่สำคัญหากคนไทยผลิตเองได้ยาที่ ได้ก็จะมีราคาถูกผู้ป่วยเข้าถึงได้ ซึ่งราคาจะถูกกว่าต่างชาติแน่นอน โดยเป้าหมายคือผู้ป่วยบัตรทองสามารถใช้ได้ อนาคตหากเราไม่ทำเรื่องกัญชาเราต้องมีการนำเข้ากัญชาจากต่างชาติ” นพ.โสภณ ขยายภาพถึงสาเหตุการนำยาเสพติดมาใช้เป็นยารักษาโรค
โดยหลังจากกัญชาถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีผลงานวิจัยและผลการศึกษาที่ออกมารองรับว่าสารสกัดจากกัญชา ทั้ง THC และ CBD มีสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะบางโรคที่ยังไม่มียารักษา เช่น ลมชัก เป็นต้น
...
ประเทศไทยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำกัญชามาใช้รักษาโรค โดยได้กำหนดที่จะนำมาใช้โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ที่สามารถนำกัญชาไปใช้ในการรักษาโรค ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่มีหลักฐานข้อบ่งชี้แล้วว่าใช้ได้ ซึ่งมี 4 โรค ได้แก่ 1.อาการแข็งเกร็งจากเส้นเลือดตัดหรือแตก ความผิดปกติที่ระดับของไขสันหลัง 2.อาการปวดอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งหรือปลอกประสาท เช่น ข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ที่ต้องใช้ยาระงับปวดอย่างรุนแรง 3.การรับประทานอาหารไม่ได้จากโรคทางกายและทางจิต และ 4.โรคทางสมอง
2.กลุ่มโรคที่เป็นไปได้ที่จะใช้กัญชาและพอมีงานวิจัยในมนุษย์บ้าง เช่น พาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ ซึ่งมีการใช้ในมนุษย์อยู่แล้ว ก็อาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ โดยมีการใช้และเก็บข้อมูลระยะยาวว่าเป็นอย่างไร หากเห็นผลชัดเจนก็ดันเข้ากลุ่มที่ 1 คือมีหลักฐานชี้ชัด และ 3.กลุ่มที่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยอาจต้องไปศึกษาในสัตว์ทดลองก่อน เช่น การฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ทั้งนี้
ในการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมีบำบัด เรารู้ว่าต้องใช้กัญชาขนาดเท่าใด แต่จะนำมารักษามะเร็งเลยยังไม่รู้ขนาดผลจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบจึงต้องมีการ ไปศึกษาเพิ่มโดยอาจต้องไปศึกษาในสัตว์ทดลองอีก
...
ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงการออกประกาศกระทรวงเพื่อให้สอดรับกับการปลดล็อกกัญชา ว่า การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้นั้น หลังจากนี้ อย.ต้องออกกฎหมายลูกและประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีกประมาณ 8 ฉบับ เพื่อเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และ รมว.สาธารณสุข เพื่อพิจารณาประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน มี.ค.2562 โดยเบื้องต้นใน 8 ฉบับจะมีเรื่อง การปลูกกัญชา ที่กำหนดว่าต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หากเป็นเอกชนก็ต้องทำร่วมกับรัฐ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน และการปลูกต้องได้มาตรฐานที่สูงกว่าการปลูกสมุนไพรจีซีพี (GCP) เพราะกัญชาเป็นพืชที่ดูดซับโลหะหนักได้ดี และครอบคลุมถึงเรื่องการเก็บเกี่ยวด้วย ส่วนการปลูกต้องขออนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเป็นคนพิจารณาอนุญาต
...
“นอกจากนี้ จะมีการออกข้อกำหนดเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ว่าใครบ้างที่จะใช้ได้ และใช้ได้กับโรคอะไรบ้าง เช่นเดียวกับการใช้ในส่วนของการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งมีการอนุญาตให้ใช้ได้ทุกส่วนของกัญชาตามสูตรของการรักษาแพทย์แผนไทย แต่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ต้องไปออกหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนด้วย ส่วนเรื่องการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์จากกัญชาต้องมีการควบคุมเหมือนมอร์ฟีน เนื่องจากยังถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 ไม่ได้เปิดเสรี
การจะนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในประเทศต้องได้รับอนุญาต เช่น ผู้ป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์ หากหิ้วมาโดยไม่ขออนุญาต อาทิ เป็นน้ำอัดลม อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของกัญชาจะถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล แต่ถ้าใครครอบครองเพื่อจำหน่ายจะถือว่าผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 2-15 ปี” นพ. สุรโชค ขยายภาพการเดินหน้าออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดขอบเขตและควบคุม ไม่ให้มีการนำกัญชาไปในทางที่ผิด
ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เล่าถึงการสกัดสารสกัดจากกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ ว่า อภ.จะมีการดำเนินการเพื่อนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์การเลือกวิธีปลูก โดยจะเป็นเชิงระบบมีการควบคุมทั้งหมด เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการขอของกลางยาเสพติดให้โทษมาทำการทดลอง แต่ก็พบว่ากัญชามีการปนเปื้อนโลหะหนัก ดังนั้นเพื่อให้คนไทยสามารถมีสารสกัดจากกัญชาที่ได้มาตรฐาน เราจึงต้องดำเนินการปลูกเองเพื่อให้ได้กัญชาไปทำการวิจัยช่วงเดือน พ.ค.–มิ.ย. 2562 โดยจะปลูกในโรงเรือนของ อภ. ให้ได้กัญชาประมาณ 100 กิโลกรัม ก่อนทำเป็นระบบเชิงวิจัยและต่อยอดทำวิจัย ซึ่งไม่เกินเดือน ก.พ.2562 ไทยจะมีการปลูกกัญชาต้นแรก อนาคตหากเราไม่ทำเรื่องกัญชาเราต้องมีการนำเข้ากัญชาจากต่างชาติ ทั้งนี้ ถึงแม้เราจะเดินหน้าเรื่องกัญชาอย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เรากังวล คือการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรของต่างชาติเพราะหากยังไม่มีความชัดเจนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อภ.ก็มีความเสี่ยงถูกฟ้องได้หากคำขอได้รับการอนุมัติ
“ส่วนระบบการปลูกจะใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นระบบลอยหรือลงกระถาง แต่จะไม่ปลูกแบบลงดิน เพราะกัญชาดูดสารพิษเก่ง หากปลูกลงดินจะเป็นอันตรายได้ เบื้องต้นจะปลูกในระบบปิดไม่ให้เกิดการรั่วไหล เพราะมีบางกลุ่มไม่สบายใจว่ากัญชาจะถูกนำไปใช้เสพเป็นยาเสพติด เราต้องทำตามกฎหมายพยายามเป็นต้นแบบ มีการติดตามหากเป็นยาต้องมีคุณภาพ สารสำคัญต้องคงที่มี THC และ CBD ที่คงที่ และมีมาตรฐาน คือต้องไม่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก ส่วนสายพันธุ์นั้นจากนี้จะมีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา เพราะการจะขายระหว่างประเทศได้ต้องเป็นการใช้ทางการแพทย์ ต้องปลูกเฉพาะเจาะจงตามความต้องการของผู้ใช้เพื่อให้รู้ว่า โรคแต่ละโรคมีความต้องการสารเท่าใดบ้าง” ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงแผนการปลูกกัญชาพร้อมฉายภาพต่อด้วยว่า การสกัดสารนั้นอาจสกัดเป็นสูตรผสมแบบค็อกเทล เพราะเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาวารสารทางการแพทย์ของสเปน มีการตีพิมพ์ว่าต้องใช้กัญชาเฉพาะสายพันธุ์และต้องใช้แบบผสมหลายตัว ดังนั้นจากนี้ต้องหารือกับผู้ที่มีประสบการณ์ เพื่อผลิตตามความต้องการของผู้ใช้
ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การที่ประเทศไทยมีการเตรียมพร้อม นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่ดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณด้านยารักษาโรคที่สามารถใช้กัญชาทดแทนได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยคืนความสุขและรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยรวมถึงครอบครัวด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องขอฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่มองข้ามคือ การควบคุมและเอาจริงเอาจังไม่ให้มีการนำเอากัญชารักษาโรคกลับไปใช้เป็นยาเสพติด เพราะหากปล่อยให้มีการนำไปใช้ผิดที่ผิดทาง หรือผิดวัตถุประสงค์ สิ่งที่จะตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือความสูญเสียที่รุนแรงถึงขั้นต้องสังเวยกันด้วยชีวิต
อย่าให้สิ่งที่ตั้งความหวังว่าจะเกิดผลเป็น “คุณอนันต์” ต้องกลายเป็นสร้าง “โทษมหันต์” และทำร้ายผู้คนที่หลงผิดเพราะนั่นหมายถึง การต้องตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากตายทั้งเป็น.
ทีมข่าวสาธารณสุข