ในการพิมพ์หนังสือนิทานสุภาษิต ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 16 พ.ย. ร.ศ.128 (พ.ศ.2451) ท่านเจ้าของนาม “วิสุทธิสุริยศักดิ์” ตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ เขียนคำนำไว้ตอนหนึ่ง

การสอนจรรยาด้วยวิธีชักนิทาน มาให้เป็นเครื่องเทียบเคียงเช่นนี้ เป็นวิธีอันมีมาแต่โบราณกาล เป็นอุบายอันชาญฉลาดของครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน...ในการที่จะฝึกหัดสันดานคนให้ดี

โดยให้เห็นดีและชั่วชัดแจ่มจากตัวอย่างเรื่องนั้น

นิทานเรื่องนกมีหูหนูมีปีก ที่เด็กรุ่นผมหัดอ่าน และจดจำเล่าต่อๆกันมา ผมเพิ่งรู้ว่า พระยาวิจิตร์ธรรมปริวัตร์ (คำ พรหมกสิกร) เป็นผู้แต่ง สำนวนดั้งเดิม เป็นดังนี้

มีนิทานเก่าเล่ากันสืบมาว่า แต่เดิมค้างคาวได้อาศัยกินอยู่กับฝูงนก มีนกตัวหนึ่งเป็นนาย

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง นกที่เป็นนายสั่งให้พวกนกและค้างคาวที่เป็นบริวารให้ทำรังอยู่ ค้างคาวก็ไม่ทำตามคำสั่ง

นายนกจึงต่อว่าค้างคาวว่า “เราสั่งให้ทำรังอยู่ ทำไมจึงไม่ทำ” ค้างคาวก็เอาหูออกมาอวดแล้วพูดว่า “เรามีหู เราไม่ใช่พวกของท่าน เราเป็นหนูต่างหาก”

นายนกจึงตอบว่า “อ้าว! ถ้าดังนั้นท่านเป็นพวกหนู ก็ไปอยู่กับพวกหนูสิ”

ครั้นค้างคาวถูกไล่แล้ว ก็ไปอาศัยอยู่กับพวกหนู อยู่มาได้หน่อยหนึ่ง นายหนูก็สั่งให้พวกบริวารช่วยกันทำรูอยู่ ค้างคาวก็ไม่ทำ นายหนูจึงว่า “เราสั่งให้ทำรูอยู่ ทำไมจึงไม่ทำ”

ค้างคาวก็กางปีกออกให้ดูแล้วพูดว่า “เรามีปีก เราไม่ใช่พวกของท่าน เราเป็นพวกนกต่างหาก”

หนูจึงตอบว่า “เมื่อเจ้าเป็นนก ก็ไปอยู่กับพวกนกสิ”

ค้างคาวก็กลับไปหานก กระพือปีกให้ดูแล้วบอกว่า “เราเป็นพวกนก”

ฝ่ายนกจึงว่า “เอ๊ะ! เจ้าค้างคาวนี่พูดสับปลับ เมื่อเราสั่งให้ทำรังก็เอาหูออกอวด บอกว่าเป็นพวกหนู เดี๋ยวนี้สิ กลับเอาปีกออกมาอวด บอกว่าเป็นพวกนก เราไม่ยอมให้อยู่ด้วย”

...

ค้างคาวก็กลับไปหาหนู เอาหูอวดแล้วบอกว่า “เราเป็นพวกของท่าน” หนูจึงว่า เออ! เมื่อเราสั่งให้ทำรูอยู่ เจ้าเอาปีกออกมาอวดบอกว่าเป็นพวกนก

บัดนี้สิ กลับเอาหูออกมาอวด บอกว่าเป็นพวกของเรา เจ้านี่ สับปลับมาก เราไม่ยอมให้อยู่ด้วย

เมื่อความอันนี้ ทราบไปถึงนายนกและนายหนูทั้ง 2 ข้างว่า ค้างคาวเที่ยวพูดตลบตะแลงมาทั้งสองแห่ง นายทั้ง 2 จึงปรองดองกัน นัดประชุมปรึกษาโทษค้างคาว

จึงตกลงพร้อมกันว่า “ค้างคาวนี้มีโทษมาก” เพราะเที่ยวทำสับปลับตลบตะแลง ไม่ควรจะให้อยู่ในโลกต่อไป

ค้างคาวครั้นทราบคำปรึกษาดังนั้น ก็มีความเศร้าโศกมาก

จึงอ้อนวอนขอโทษว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่ประพฤติเป็นคนสับปลับตลบตะแลงเช่นนี้อีกเลย”

ที่ประชุมเห็นค้างคาวรู้สึกโทษของตัวเองเช่นนั้นแล้ว จึงยอมผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ให้ค้างคาวอยู่ในโลกได้ แต่ห้ามไม่ให้ใครคบหาด้วย แม้จะกินจะอยู่หรือนอน ก็ห้ามไม่ให้กินไม่ให้อยู่ไม่ให้นอนเหมือนนกเหมือนหนู

ให้ห้อยหัวกิน ห้อยหัวอยู่ ห้อยหัวนอน และห้ามไม่ให้ออกหากินในเวลาเดียวกันกับนกและหนูด้วย

ค้างคาวก็ต้องรับโทษคำตัดสิน

นิทานสุภาษิตรุ่นเก่า ไม่มีคำ “สอนให้รู้ว่า” ต่อท้าย ปล่อยให้คิดต่อกันเอง ผมอ่านแล้วได้ความคิดว่า ทั่วบ้านเมืองเรามองไปบนฟ้า ก็พอรู้ พวกไหนเป็นนก มองลงดิน ก็พอเห็นว่า พวกไหนเป็นหนู

แต่ไม่เห็นค้างคาว

เขาว่า ค้างคาวมีเยอะไป กลางคืนก็นอน ตีนเกาะกิ่งไม้ ห้อยหัวลงดิน กลางวันก็แอบไปซุกนอนอยู่ในซอกหลืบถ้ำลึกๆ เจอหนูก็อวดหู เจอนกก็อวดปีก ใครด่าก็ทนได้ ขออยู่เป็นพรรคพวกเขาไปได้เรื่อยๆ

หันไปทางไหน ตอนนี้ เจอพวกนกมีหูหนูมีปีก หลีกแบบไหนก็ไม่พ้น.

กิเลน ประลองเชิง