มะลิวัลย์ มีถิ่นกำเนิดทั่วไปในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน โดยในประเทศไทยเรียกว่า “มะลิวัลย์” มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ JUSMINUM LANCEOLARIA ROXB, SUBSQ LANCE OLARIA อยู่ในวงศ์ OLEACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลกว่า 5-10 เมตร ใบเป็นใบประกอบ อาจลดรูปเหลือใบย่อยเพียงใบเดียวได้ ใบออกตรงกันข้ามรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายและโคนแหลม ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด และที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 10-15 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5-8 กลีบ สีขาวสะอาด ดอกมีกลิ่นหอมเย็น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามสดใสและส่งกลิ่นหอมประทับใจยิ่ง “ผล” รูปทรงกลม มีเมล็ด ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง “คุณปัญญา” ตรงกันข้ามกับโครงการ 8 ราคาสอบถามกันเอง
ประโยชน์ทางสมุนไพร ตำรายาพื้นบ้านไทยระบุว่า ลำต้นหรือเถาของ “มะลิวัลย์” ผสมกับลำต้นเถางูเห่า ลำต้นว่านเพชรหึงจำนวนเท่ากันเป็นแบบสดหรือแห้งก็ได้ต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นต่างน้ำ หรือห่อผ้าขาวบางดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊กก่อนอาหารเช้า เย็น และก่อนนอน เป็นยาบำรุงทางเพศแก่บุรุษแก้ประดงข้อดีมาก
นอกจากนั้น หากเอาเถาหรือต้น “มะลิวัลย์” ผสมกับเถางูเห่า ลำต้นมะม่วงเลือดน้อยต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดดื่มประจำหรือห่อด้วยผ้าขาวบางดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊กก่อนอาหารเช้า เย็น และ ก่อนนอน เป็นยาแก้ปวดเมื่อยหลังจากทำงานหนักได้สุดยอดเลยทีเดียว ส่วนรากของ “มะลิวัลย์” อย่างเดียวตากแห้งจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มเป็นยาแก้ไอได้อีกด้วย
...
ดังนั้น “มะลิวัลย์” จึงเหมาะที่จะปลูกในบริเวณบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นได้คุ้มค่ามากครับ.
“นายเกษตร”