วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินกันอีกสักครั้ง แน่นอนครับ มาตรฐานความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าต้องใช้มาตรฐานสูงเกินความพอดีหรือเกินความจำเป็น บางทีมันก็กลายเป็นความจุกจิกหยุมหยิม การตรวจสอบให้ได้มาตรฐานอาจจะกลายเป็นการจับผิดแทน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 มีเรื่องน่าอับอายเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการบินในประเทศต่างๆ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยการบินด้วยการปัก “ธงแดง” เป็นการประกาศว่าไทยสอบตกในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน มาตรฐานไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แสดงให้เห็นว่า กรมการบินพลเรือน หรือ บพ. ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลด้านการบิน โดยเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจการบิน (AOC) อย่างไร้ทิศทาง

นอกจากนี้ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) ซึ่งมีหน้าที่วางระเบียบ และควบคุมตรวจสอบงานการบินพลเรือน และให้คำแนะนำหน่วยงาน

การบินพลเรือนของประเทศต่างๆ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจาก ประเภทที่ 1 (Category 1) ให้ไปอยู่ ประเภทที่ 2 (Category 2) มีผลทำให้ทุกสายการบินที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ออกโดย บพ. ถูกระงับไม่ให้ทำการบินเข้าสหรัฐฯ

ช่วงนั้นรัฐบาลต้องวิ่งวุ่นหัวขวิด เร่งทำการแก้ไขข้อบกพร่องตามที่ ICAO ให้คำแนะนำไว้ (จนกระทั่งได้รับการปลดธงแดงในภายหลัง) พร้อมกับปรับเปลี่ยนองค์กรโดยแยก บพ.ออกเป็น 1.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) และ 2.กรมท่าอากาศยาน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

...

หลังจาก บพ.เปลี่ยนชื่อเป็น กพท.ก็มีความพยายาม ฟอกตัว ให้ขาว โดยจ้างคนเพิ่มทั้งไทยและฝรั่ง แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากเหล้าเก่าในขวดใหม่ อีกทั้งพยายามโชว์บทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยการบิน เพื่อนำมาเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน โดยได้ ไล่บี้สายการบินต่างๆอย่างเอาเป็นเอาตาย แทนที่จะเป็นผู้ตรวจสอบที่ดี คอย ชี้แนะ ให้สายการบินปรับปรุงข้อบกพร่อง แต่กลับทำตัวอย่างกับเป็นตำรวจ จับผิดคนร้าย

ทั้งที่สายการบินต่างๆล้วนผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบินไทย ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ขนาดลุฟต์ฮันซายังเลือกให้เป็นพันธมิตรกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ แม้กระทั่งในช่วงที่ไทยติดธงแดง การบินไทยก็ถูกสุ่มตรวจโดยองค์กรระดับโลกทุกครั้งที่บินไปจอดประเทศอื่น แต่ก็ไม่เคยเจอข้อบกพร่อง

ช่วงนี้เจ้าหน้าที่ กพท.ยิ่ง ออกฤทธิ์ออกเดชหนักข้อ อาจเป็นเพราะจะต้องถูกสอบจาก FAA ในเดือน ก.ย.นี้ และตามด้วย ICAO ตรวจสอบอีกรอบ ทำให้แอร์ฯกับสจ๊วตของสายการบินต่างๆถูกกดดันเพิ่มขึ้น กลายเป็นความเครียดจนส่งผลเสียต่อการให้บริการผู้โดยสาร

สายการบินหลายแห่งเริ่มทนรำคาญไม่ไหว จำต้อง เพิ่มงบประมาณในส่วนนี้จนเกินความจำเป็น และบางแห่งลงทุน จ้างฝรั่ง จาก สมาคม ขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มาเป็นที่ปรึกษาและเป็นตัวประสานระหว่างองค์กร เพราะข้อกฎหมายสากลเป็นภาษาอังกฤษ จึงไม่ต้องมาตีความกันให้เสียเวลาอีก

มาตรฐานความปลอดภัยต้องสูงแค่ไหนจึงจะถือว่าดีที่สุดตามมาตรฐาน กพท. อันนี้ไม่มีใครรู้ แต่เวลาผู้โดยสารตำหนิสายการบิน มักจะพูดถึง งานบริการ ส่วนความปลอดภัยแทบไม่ค่อยเป็นประเด็น ทั้งๆที่เป็นต้นทุนแฝงจำนวนมหาศาล

เจออีหรอบนี้สุดท้ายคงหนีไม่พ้นขึ้นราคาตั๋วโดยสาร ผู้บริโภครับกรรมอีกตามเคย.

ลมกรด