โลกอยู่ในระบบสุริยะที่มีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์แม่ และระบบสุริยะก็เป็นสมาชิกในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งกาแล็กซีของเราก็ไม่ได้เดียวดายนัก เพราะมีเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือบางครั้งเรียกว่าบริวาร คือกาแล็กซีเมฆแมกเจลเลน ถูกระบุว่าเป็นกาแล็กซีแคระผิดปกติ 2 แห่ง มองเห็นได้ในซีกโลกใต้ นักดาราศาสตร์เลยตั้งชื่อแยกกันว่า เมฆแมกเจลเลนใหญ่ และเมฆแมกเจลเลนเล็ก ตามขนาด ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเมฆแมกเจลเลนเล็ก ไม่ใช่กาแล็กซีแคระเพียงแห่งเดียว ยังย่อยเป็นกาแล็กซีแคระ 2 แห่ง แต่ก็ไม่อาจยืนยันแน่ชัดได้

ล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์กลุ่มใหญ่ รายงานลงเว็บไซต์ arXiv ที่เป็นระบบฐานข้อมูลสำหรับการจัดเก็บ เผยแพร่ เอกสารทางวิชาการที่เข้าถึงได้แบบเปิดเผย หลังจากได้พบหลักฐานเพิ่มเติมจากข้อมูลของดาวเทียมไกอา (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรป บวกกับศึกษาข้อมูลจาก Galactic Australian Square Kilometer Array Pathfinder ซึ่งเป็นกล้อง โทรทรรศน์วิทยุในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ทำให้รู้ว่าเมฆแมกเจลเลนเล็กเป็นกาแล็กซีแคระขนาดเล็ก 2 แห่งจริงๆ

ทีมอธิบายว่า เมื่อพิจารณาหลักฐานทั้งหมด ก็พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของเมฆแมกเจลเลนเล็กนั้นมีความแตกต่างกัน มี 2 ส่วนที่ความเร็วต่างกัน มีมวลประมาณเท่ากันและทั้ง 2 ส่วนมีปฏิสัมพันธ์กับเมฆแมกเจลเลนใหญ่ พอนำหลักฐานมารวมกัน ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงกาแล็กซี 2 แห่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยกาแล็กซีแห่งหนึ่งอยู่ด้านหลังอีกกาแล็กซีหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับกาแล็กซีเมฆแมกเจลเลนใหญ่.

Credit : NASA/CXC/JPL-Caltech/STScl

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...