ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นในปี 2516 จากการจัดตั้งการประชุมด้านยางสังเคราะห์ จากนั้นในอีก 4 ปีต่อมา หรือในปี 2520 “ฟุคุดะ ทาเคโอะ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงได้ประกาศหลักการและทิศทางในการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

โดยมีหัวใจสำคัญคือ 1.ญี่ปุ่นจะไม่เป็นประเทศทางอำนาจการทหาร 2.ญี่ปุ่นจะสร้างความสัมพันธ์ด้วยหัวใจและเปิดใจ และ 3.อาเซียนและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน และได้รับการยกสถานะเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เมื่อปี 2546 ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีโคอิซุมิ จุนอิจิโระ

จนมาในปี 2556 “อาเบะ ชินโสะ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศ 5 หลักการของการทูตญี่ปุ่นที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนนั่นคือ 1.ปกป้องและส่งเสริมคุณค่าสากล 2.กฎหมายและกฎหมายทางทะเล 3.ส่งเสริมเศรษฐกิจเปิดกว้างและเสรี 4.ยกระดับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม 5.ยกระดับการแลกเปลี่ยนของเยาวชน

และออกแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น ถึงวิสัยทัศน์ของความร่วมมือและมิตรภาพอีก 4 ประการคือ 1.เป็นหุ้นส่วนกันเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ 2.เป็นหุ้นส่วนกันเพื่อความเจริญรุ่งเรือง 3.เป็นหุ้นส่วนกันเพื่อคุณภาพชีวิต และ 4.เป็นหุ้นส่วนที่เปิดใจและคบกันด้วยหัวใจ

สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนอยู่ในตัวเลขของการไปมาหาสู่กัน โดยชาวญี่ปุ่นเดินทางมาอาเซียน ทำสถิติทะลุ 5.5 ล้านคน สถานที่ยอดนิยมอันดับ 1 คือ ประเทศไทย ตามด้วยสิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว บรูไน ส่วนประชากรในภูมิภาคอาเซียนเดินทางไปญี่ปุ่นทะลุ 4 ล้านคน มากที่สุดอันดับ 1 คือ ประเทศไทย ตามด้วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา ลาว บรูไน

...

เช่นเดียวกับผลโพลในอาเซียนเองที่มีมุมมองต่อญี่ปุ่นในแง่บวก โดย 93% มองว่าอาเซียน มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับญี่ปุ่น อีก 92% มองว่ามีความสัมพันธ์ที่พึ่งได้ ส่วนคำถามว่าหุ้นส่วนที่สำคัญในอนาคตของอาเซียนคือใคร 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.จีน (48%) 2.ญี่ปุ่น (43%) 3.สหรัฐฯ (41%) 4.อาเซียน (40%) 5.เกาหลีใต้ (28%)

ในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ได้พัฒนามาจนครบ 5 ทศวรรษ หรือ 50 ปีเต็ม ซึ่งจะมีการดำเนินการในแง่มุมต่างๆตลอดปี เช่นเดือน มี.ค. นี้ก็จะมีโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนทางวัฒนธรรม “JENESYS” หรือเดือน ก.ค. จนถึง ก.ย. ก็คือคิวการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง

และในเดือน ธ.ค.2566 ก็จะทิ้งท้ายด้วยการประชุมครบรอบ 50 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ซึ่งได้มีการตั้งคำขวัญไว้ก่อนหน้าคือ “มิตรภาพอันเรืองรองกับโอกาสอันงดงาม”.

ตุ๊ ปากเกร็ด