เมื่อราว 11,500 ล้านปีก่อนมีดาวฤกษ์ที่เป็นดาวยักษ์แดงได้ยุบตัวและระเบิด เกิดซุปเปอร์โนวาที่น่าทึ่งในช่วงยุคแรกของเอกภพหรือจักรวาล แสงจากหายนะของดาวฤกษ์ดวงนั้นได้เดินทางผ่านอวกาศและผ่านเวลามา จนในที่สุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป สามารถตรวจจับได้ในปี พ.ศ.2554

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าการค้นพบนี้มาจากการกลั่นกรองข้อมูลจากกล้องฮับเบิล ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นซุปเปอร์โนวาที่มาจากดาวฤกษ์ที่ยุบตัวเร็วที่สุด ที่อยู่ในกระจุกกาแล็กซีชื่อ Abell 370 กล้องฮับเบิลจับภาพช่วงเวลาหลังจากที่ดาวระเบิดออกเป็นชุดภาพ 3 ภาพ และอธิบายว่าได้เห็นวิวัฒนาการของซุปเปอร์โนวาในช่วงเวลาหลายชั่วโมงและหลายวัน ในตอนแรกซุปเปอร์โนวาปรากฏเป็นสีน้ำเงิน จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อเย็นลงอย่างรวดเร็วเป็นเวลา 8 วัน ถือเป็นซุปเปอร์โนวาที่อายุยังน้อยมาก นักวิทยาศาสตร์เผยว่าการตรวจจับซุปเปอร์โนวาในขณะเกิดการระเบิดก็ว่ายากแล้ว แต่การตรวจจับซุปเปอร์โนวาจากดาวฤกษ์ที่ระเบิดหลังจากเหตุการณ์บิ๊ก แบง (Big Bang) ไม่นานนั้นยากกว่า นั่นเป็นเพราะว่าแสงที่มาจากวัตถุถูกยืดออกและเคลื่อนไปยังปลายสเปกตรัมสีแดง (redshift) โดยการขยายตัวของเอกภพ และยิ่งแสงเป็นสีแดง ก็ยิ่งยากต่อการตรวจจับด้วยกล้องโทรทรรศน์ เช่น ฮับเบิล ซึ่งมีความสามารถจำกัดในการมองเห็นวัตถุในช่วงความยาวคลื่นที่ยาวกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ย่อท้อ พวกเขาใช้ความสว่างของซุปเปอร์โนวาและอัตราการระบายความร้อนเพื่อประเมินขนาดของดาวฤกษ์เดิม การคำนวณก็พบว่าดาวฤกษ์ดวงนั้นมีขนาดประมาณ 530 เท่าของดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่าดาวแดงยักษ์นั่นเอง.

...