หลังการสำรวจในภูมิภาควอลเลเซีย (Wallacea) ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะที่อยู่ระหว่างทางตะวันตกของอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี เมื่อไม่นานมานี้ โดยทีมวิจัยนานาชาตินำโดยนักวิจัยของสถาบันมักซ์ พลังค์ ด้านมานุษย วิทยาวิวัฒนาการในเยอรมนีได้ขุดพบกระดูกหูชั้นในของกะโหลกศีรษะมนุษย์เพศหญิงวัย 17-18 ปี ที่ฝังมานาน 7,200 ปีในถ้ำ Leang Panninge บนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย และตั้งชื่อหญิงสาวคนนี้ว่า Bessé

ล่าสุดนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย เผยว่าร่องรอยทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจาก Bessé ได้เปลี่ยนแปลงทฤษฎีเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของมนุษย์ในยุคแรกๆในเอเชีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ภูมิภาควอลเลเซีย จะเป็นจุดที่มาบรรจบกันในระยะแรกของมนุษย์ 2 สายพันธุ์คือเดนิโซแวน (Denisovans) เป็นกลุ่มของมนุษย์โบราณมาจากไซบีเรีย และโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) บรรพบุรุษของเรา ส่วน Bessé นั้นนักวิจัยวิเคราะห์พบว่าเธอสืบเชื้อสายมาจากชาวออสโตรนีเซียน ที่พบโดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย แต่สตรีโบราณคนนี้ยังมีส่วนผสมเล็กๆของมนุษย์เดนิโซแวนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะนักวิทยา ศาสตร์เคยคิดว่ามนุษย์เดนิโซแวนเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน
...
ดังนั้น ดีเอ็นเอของ Bessé นอกจากจะเปลี่ยนทฤษฎีรูปแบบการอพยพของมนุษย์ในยุคแรกๆ ยังอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวปาปัวและชาวออสเตรเลียพื้นเมืองที่มีดีเอ็นเอของมนุษย์เดนิโซแวนเช่นกัน.