1 กรกฎาคม 1921 ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

1 กรกฎาคม 2021 พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งครบ 100 ปี

1 กรกฎาคม 2021 ผมได้รับแจ้งจากรัฐวิสาหกิจ Zhongguancun International Incubator ว่าทางการอนุมัติให้ 1 ในบริษัทลูกของกลุ่มบาลานซ์ของไทยคือ ปักกิ่ง จอยเอ็นโค รีเทลลิ่ง เทคโนโลยี (จดทะเบียนในจีน) สามารถตั้งสำนักงานใหญ่ในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง

รัฐบาลจีนตรวจประวัติบริษัทที่จะเข้าไปตั้งในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง โดยละเอียด หากไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตั้ง

วันเดียวกัน สำนักงานสถิติของเทศบาลนครปักกิ่งออกแถลงการณ์ว่า บริษัทเทคโนโลยีที่ตั้งในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง รวมทุกบริษัทสร้างรายได้ 5 เดือนแรกของ ค.ศ. 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบปีต่อปี

บริษัทในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง มีรายได้ใน 5 เดือนแรกของปีนี้รวมทั้งสิ้น 2.97 ล้านล้านหยวน (14 ล้านล้านบาท) มีพนักงานวิจัยและพัฒนาของย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง ทั้งหมด 6.95 แสนคน เพิ่มร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบปีต่อปี ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาโดยรวมอยู่ที่ 1.34 แสนล้านหยวน (6.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 เมื่อเทียบปีต่อปี

จงกวนชุน กรุงปักกิ่ง หรือศูนย์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำแห่งกรุงปักกิ่ง ตั้งเมื่อ ค.ศ. 1988 รายล้อมด้วยกลุ่มมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ ย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งแรกของจีน เมื่อย้อนหลังกลับไปในอดีต บริษัทเทคโนโลยีจีนที่ไต่ขึ้นสู่ระดับโลกในปัจจุบัน ล้วนได้รับอนุมัติจากทางการให้มีออฟฟิศอยู่ในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง มาก่อนแทบทั้งสิ้น

จงกวนชุน กรุงปักกิ่ง รายล้อมด้วยมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหวา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ เป็นที่รวมบุคคลชั้นหัวกะทิของชาติ อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ล้วนจบจากมหาวิทยาลัยชิงหวา

...

การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอันดับท็อปของจีนเป็นไปด้วยความเข้มข้น บางคนสอบได้ที่ 1 จริง แต่เป็นที่ 1 ของประเทศที่มีประชากรแค่ 100 ล้านคน ทว่าที่ 1 ของจีนต้องผ่านการแข่งขันและถูกคัดกรองจากประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน

ย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง เต็มไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ชั้นยอดเดินขวักไขว่ไปมา เมื่อจบการศึกษาแล้ว บัณฑิตมหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหวาชอบทำงานในจงกวนชุนซึ่งเป็นย่านที่ตัวเองเคยชิน สภาพแวดล้อมของย่านนี้จึงเต็มไปด้วยงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีบรรยากาศทางวิชาการชั้นสูง เมื่อคนเก่งด้านวิจัยและพัฒนามาทำงานร่วมกันเป็นประจำต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดการต่อยอดที่สามารถสร้างนวัตกรรมระดับโลก รวมทั้งสร้างเม็ดเงินจำนวนมากมายมหาศาลเข้าประเทศ

ยากที่จะมีย่านใดในโลกนี้ ที่บริษัทในย่านนั้นหาเงินรวมกันภายในเวลา 5 เดือนได้มากถึง 14 ล้านล้านบาท ถ้าครบหนึ่งปี ผมมีความเชื่อว่ารายได้ทั้งหมดที่เกิดจากย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง อาจจะถึง 30 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณที่ใช้กันทั้งปีของหลายประเทศ

จงกวนชุนเป็นชื่อย่านในเขตไห่เตี้ยนของกรุงปักกิ่ง แต่เมื่อประสบความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พื้นที่ย่านอื่นของจีนที่ต้องการรวมบริษัทและคนที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มักจะใช้คำว่าจงกวนชุนด้วย เช่น สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุน นครหนานหนิง สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุนแห่งเขตเมืองใหม่ปินไห่ นครเทียนจิน และสวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุนแห่งเขตเมืองใหม่สงอัน มณฑลเหอเป่ย

ฐานะที่เป็นคนไทยและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จอยเอ็นโค จำกัด (จดทะเบียนในไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าไปถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของ บริษัท ปักกิ่ง จอยเอ็นโค รีเทลลิ่ง เทคโนโลยี จำกัด (จดทะเบียนในจีน) ผมหวังว่าทรัพยากรชั้นหัวกะทิในย่านจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง จะร่วมด้วยช่วยกันสร้างนวัตกรรมด้านการค้าปลีกทั้งของไทยของจีน และของโลก ในอนาคตอันใกล้ครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com