เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิ.ย. สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยแพร่รายงานทิศทางสถานการณ์โลกประจำปี 2563 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าแม้โลกจะกำลังเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 แต่จำนวนผู้พลัดจากถิ่นที่อยู่อาศัยกลับพุ่งสูงทำสถิติ 82 ล้านคนทั่วโลก
ทั้งนี้ ในรายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ ชี้แจงว่าตัวเลขดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน และยังคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ถูกบังคับให้หลบหนี ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปีที่ผ่านมา การพลัดถิ่นเกิดขึ้นภายในประเทศของตนเอง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้ยากลำบากต่อการเดินทางข้ามประเทศหรือข้ามพรมแดน และมีผู้ลี้ภัยเพียง 250,000 คน ที่สามารถเดินทางกลับสู่ประเทศต้นทางได้ มีเพียง 34,000 คนเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย ตั้งรกรากอยู่ในประเทศที่สาม
สำหรับข้อมูลตลอดปี 2563 ยังพบว่าอันดับประเทศที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุด ได้แก่ ซีเรีย 6.7 ล้านคน เวเนซุเอลา 4 ล้านคน อัฟกานิสถาน 2.6 ล้านคน ซูดานใต้ 2.2 ล้านคน และเมียนมา 1.1 ล้านคน ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยพักพิงอยู่มากที่สุดคือ ตุรกี 3.7 ล้านคน โคลอมเบีย 1.7 ล้านคน ยูกันดา 1.4 ล้านคน ปากีสถาน 1.4 ล้านคน และเยอรมนี 1.2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบตัวเลขด้วยว่าระหว่างปี 2561-2563 มีเด็กที่เกิดจากครอบครัวของผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆมากเกือบ 1 ล้านคน
ขณะที่การประเมินสถานการณ์ภายในปี 2564 นี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์คาดว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมาตรการป้องกันไวรัสเริ่มคลายล็อก ทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง อย่างในซีเรีย ซูดานใต้ และแอฟริกากลาง เช่นเดียวกับจำนวนคนจนที่จะ เพิ่มขึ้นทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 119-124 ล้านคน เนื่องด้วยผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส
...
ส่วนนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวด้วยว่า คงอีกไม่นานที่จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกจะพุ่งทะลุ 100 ล้านคน โลกจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้นตอ กระนั้นก็ยังมีตัวอย่างที่น่าชื่นชมอย่างยูกันดาที่ยังเปิดช่องให้ผู้ลี้ภัยการสู้รบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โคลอมเบียที่ให้สถานะคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลา หรือสหรัฐฯที่ให้คำมั่นโควตารับผู้ลี้ภัยเพิ่ม 62,500 คนในปีนี้.