• ข่าวการฆ่าตัวตายของทหารอากาศหญิง หลังถูกเพื่อนร่วมงานล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงอีกครั้งในเกาหลีใต้
  • หลายปีที่ผ่านมา มีผู้มีอำนาจเหนือกว่าในวงการต่างๆ คุกคามพนักงานชั้นผู้น้อยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการถูกข่มขืน
  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ผลกระทบจากวัฒนธรรมอนุรักษนิยม และระบบอาวุโสที่เข้มข้นในสังคมเกาหลีใต้ อาจส่งผลให้อัตราการเกิดลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่น้อยเผชิญกับความเครียดและไม่อยากมีบุตรในเร็วๆ นี้

ปัญหาเรื่องการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า ทั้งในแง่ของอำนาจจากตำแหน่งในการทำงาน ฐานะทางสังคม หรือแม้กระทั่งเพศสภาพ สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังในหลายพื้นที่บนโลก ซึ่งเกาหลีใต้นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พบเจอกับประเด็นดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

หลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีข่าวเหยื่อถูกคุกคามในหลากหลายสายอาชีพ ทั้งวงการกีฬา วงการบันเทิง วงการข้าราชการ การคุกคามมีตั้งแต่การด่าทอ ลดทอนคุณค่าของผู้ใต้บังคับบัญชา การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศและกระทำชำเรา

บางคดีผู้เสียหายได้รับความยุติธรรม แต่หลายคดีผู้เสียหายกลับรู้สึกว่าตนไม่มีอำนาจมากพอจะทำอะไรได้ ไม่สามารถตะโกนสุดเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือพยายามต่อสู้แล้วถูกผู้มีอำนาจบังคับให้ยอมความ จนทำให้เหยื่อหลายคนเลือกจบชีวิตตัวเอง เพราะรับกับสิ่งที่ตนพบเจอไม่ได้อีกต่อไป

ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมคดีการล่วงละเมิดทางเพศในเกาหลีใต้จากวงการต่างๆ ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง รวมถึงอัตราการเกิดในประเทศที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งสองประเด็นดังกล่าวอาจเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและค่านิยมแบบอนุรักษนิยมเข้มข้นในสังคม

...


อัยการอาวุโสใช้อำนาจกดขี่และละเมิดสิทธิอัยการรุ่นน้อง

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ปี 2018 กระแส #MeToo ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในเกาหลีใต้ ทั้งการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่จุดไฟให้กระแสการเรียกร้องสิทธิสตรีกระจายเป็นวงกว้าง คือคดีการฟ้องร้องของอัยการหญิงคนหนึ่งต่ออัยการชายอาวุโสผู้มีหน้ามีตาในสังคม

การล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นสิ่งที่สังคมจับตา เมื่ออัยการ ซอ จี ฮยอน (Seo Ji-hyun) ตัดสินใจแจ้งความว่าตนถูก อัน แท กึน (An Tae-geun) อดีตอัยการอาวุโสที่ทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการลูบคลำร่างกายขณะอยู่ในงานศพเมื่อปี 2010 เธอได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปแล้ว แต่กลับถูกตักเตือนทางวินัยทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิด นอกจากนี้ยังถูก อัน แท กึน ใช้อำนาจในทางมิชอบ ย้ายเธอไปประจำยังต่างจังหวัด

นอกเหนือประเด็นการใช้อำนาจเหนือกว่ากลั่นแกล้งอัยการรุ่นน้อง อัน แท กึน ยังเคยถูกฟ้องเมื่อปี 2017 ในข้อหาคอร์รัปชัน จากการพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่หลายคนในสำนักงานอัยการ สุดท้ายก็ถูกปลดจากการทำงานในกระทรวงยุติธรรม และต้องออกจากวงการนักกฎหมาย

อัน แท กึน ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าตนจำเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศอัยการรุ่นน้องในงานศพไม่ได้เพราะเมามาก ทางด้าน ซอ จี ฮยอน ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ระหว่างพิจารณาคดี มีเพื่อนร่วมงานกว่า 20 คน ยอมให้การเท็จเพื่อปกป้องอดีตอัยการอาวุโสรายนี้

วันที่ 23 มกราคม 2019 ศาลอ่านคำพิจารณาคดี ตัดสินโทษจำคุก อัน แท กึน เป็นเวลา 2 ปี ในความผิดประพฤติมิชอบในการโยกย้าย ซอ จี ฮยอน ออกจากกรุงโซล ปกปิดการยื่นคำร้องภายในสำนักงานอัยการ อดีตอัยการอาวุโสรายนี้ยืนยันจะยื่นอุทธรณ์ต่อ และเขารอดคดีล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากคดีหมดอายุความไปแล้ว

ประเด็นฉาวในวงการนักกฎหมาย แผ่ขยายให้เกิดการตรวจสอบในหลายวงการ ทั้งวงการกีฬา การเมือง รวมถึงศาสนา ที่ทำให้เหยื่อจำนวนมากที่เคยประสบพบเจอกับการถูกล่วงละเมิดและกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม กล้าออกมาพูดถึงสิ่งที่ตนเจอต่อสาธารณชนมากขึ้น


นักแสดงชื่อดังตกเป็นผู้ต้องหาข่มขืนนักศึกษาการแสดงหลายราย

วันที่ 9 มีนาคม 2018 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบศพนักแสดงชายชื่อดัง โจ มิน กิ (Jo Min-ki) วัย 52 ปี ในบ้านพัก สาเหตุการเสียชีวิตคาดว่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่สามารถทนรับแรงกดดันจากสังคม หลังถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนนักศึกษาของตัวเอง

ก่อนจะถึงวันที่ โจ มิน กิ เสียชีวิต ย้อนกลับไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เขาเคยออกแถลงการณ์ขอโทษหลังถูกโจมตีว่าลวนลามนักศึกษาหญิง ข้อความในตอนนี้คือการยอมรับว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตน และรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนทางมหาวิทยาลัยประกาศเลิกจ้าง โจ มิน กิ เป็นอาจารย์พิเศษ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้หญิง 10 คน เข้าแจ้งความว่าถูกนักแสดงรายนี้ล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน ซึ่ง 8 ใน 10 คน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชองจู ที่เข้าเรียนในชั้นเรียนของ โจ มิน กิ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกให้เข้ามาสอบปากคำในวันที่ 12 มีนาคม แต่ผู้ต้องหาตัดสินใจฆ่าตัวตายก่อน

ข่าวคราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษา ส่งผลให้งานศพของ โจ มิน กิ เงียบเหงากว่าที่ควรสำหรับนักแสดงชื่อดัง คนดังหลายคนที่เคยร่วมงานกับเขาตัดสินใจไม่ไปงานศพ แต่เพื่อนนักแสดงที่ไปร่วมไว้อาลัยอย่าง โจ ซอง กยู (Jo Sung-gyu) แสดงความไม่พอใจต่อเหล่านักแสดงที่ไม่มางานศพผ่านทางทวิตเตอร์ว่า ไม่มีเพื่อนนักแสดงที่ โจ มิน กิ เคยร่วมงานด้วยนานกว่า 28 ปี มาร่วมงานเลย ขอให้แยกแยะเรื่องความผิดกับความสัมพันธ์ส่วนตัว

การทวีตของเขาถูกชาวเกาหลีใต้จำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าว คอมเมนต์ส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกัน อาทิ “คุณไม่มีสิทธิไปตัดสินคนอื่น” หรือ “เรื่องนี้มันเป็นมากกว่าแค่ความสัมพันธ์ส่วนตัว” ส่วนใหญ่ตั้งคำถามกลับว่า “ยังจะพูดแบบนี้อยู่ไหม หากคนในครอบครัวของคุณถูก โจ มิน กิ ล่วงละเมิด”

...


อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซล ล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการ

หนึ่งข่าวใหญ่ที่ถูกพูดถึงในเกาหลีใต้ช่วงปลายปี 2020 คือ ข่าวการหายตัวไปของอดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซลสามสมัย พัค วอน ซุน (Park Won-Soon) ที่ลูกสาวได้แจ้งความคนหายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม จนกระทั่งวันถัดมาพบศพของเขาอยู่ในป่า การจากไปของอดีตนักการเมืองชื่อดัง ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การฆ่าตัวตายของนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลรายนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่งวันก่อนพบศพหรือไม่ เมื่อเลขาส่วนตัวของเขา แจ้งความว่าถูก พัค วอน ซุน ล่วงละเมิดทางเพศ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2020 ทนายความของเลขาหญิงกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ลูกความของตนถูก พัค วอน ซุน ล่วงละเมิดทางเพศนานกว่า 4 ปี การล่วงละเมิดแต่ละครั้งมีลักษณะแตกต่างกันไป บางครั้งนายพัคจะเรียกเลขาเข้าไปในห้องนอนส่วนตัวที่สำนักงาน สั่งให้กอดและสัมผัสเนื้อตัว และมักส่งภาพตัวเองที่สวมแค่กางเกงในมาให้

ทนายยังระบุอีกว่า ลูกความของตนเคยร้องเรียนไปยังศาลาว่าการกรุงโซลแล้ว เรื่องยังคงเงียบหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เธอจึงตัดสินใจย้ายไปทำงานที่แผนกอื่นแทน แต่นายพัคยังคงตามมาคุกคามต่อ

พัค วอน ซุน ไม่ได้ออกมาชี้แจงว่าเรื่องราวทั้งหมดที่ทนายความของเลขาส่วนตัวเป็นความจริงหรือไม่ เนื่องจากเขาเสียชีวิตก่อนได้รับหมายเรียกจากตำรวจ

การถูกกล่าวหาว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศเลขาตัวเองนานหลายปี ทำให้ประชาชนจำนวนกว่า 560,000 คน ลงชื่อคัดค้านรัฐที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานศพบนเว็บไซต์ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2020 ศาลกรุงโซลปฏิเสธไม่ออกคำสั่งยับยั้งการจัดงานศพโดยรัฐ ท่ามกลางคนอีกจำนวนหนึ่งที่ออกมารวมตัวกันเพื่อยืนยันว่าอดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซลไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากหนึ่งในผลงานโดดเด่นของเขาคือการร่วมต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี

เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการสืบสวนคดีนี้ในเดือนธันวาคม 2020 โดยไม่มีการตั้งข้อหาแก่ พัค วอน ชุน ทางทนายความของผู้เสียหายจึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเกาหลีใต้

มกราคม 2021 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า จากการตรวจสอบเรื่องการกล่าวหาว่านายพัคได้ล่วงละเมิดทางเพศอดีตเลขา คณะกรรมการฯ พบหลักฐานจากการสนทนาระหว่างทั้งสอง นายพัคได้ส่งรูปภาพไม่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหายช่วงกลางดึกจริง และยืนยันว่ามีการแตะต้องเนื้อตัวผู้เสียหายในที่ทำงาน การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าอับอาย เข้าข่ายคุกคามทางเพศ

...


โค้ชคุกคามทางเพศนักกีฬาในความดูแลของตัวเอง

ชิม ซุก ฮี (Shim Suk-hee) นักสเกตน้ำแข็งดีกรีโอลิมปิกเหรียญทองสองสมัย ตัดสินใจออกมาเล่าประสบการณ์ที่แย่ที่สุดในชีวิตตอนอายุได้ 17 ปี เธอถูกโค้ช โช แจ บอม (Cho Jae-beom) ทำร้ายร่างกายและข่มขืน รวมถึงถูกข่มขู่ว่าห้ามนำเรื่องนี้ไปบอกใคร หากบอกจะทำให้หมดอนาคตในวงการกีฬา และล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬาของตัวเองนานถึง 5 ปี

ก่อนเธอจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น เคยมีข่าวว่าโค้ชสเกตน้ำแข็งรายหนึ่งมักทำร้ายร่างกายนักกีฬาขณะฝึกซ้อมอยู่ในแคมป์ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าที่ควร จนกระทั่ง ชิม ซุก ฮี ออกมาเปิดเผยว่าเธอถูกโค้ชโชล่วงละเมิดมานาน ทำให้มีนักกีฬาอีก 3 คน เข้าแจ้งความว่าตนถูกโค้ชคนเดียวกันทำร้ายร่างกายมาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2018

ด้านโค้ช โช แจ บอม ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา คดีเรื่องการทำร้ายร่างกายจบลงในเดือนกันยายน 2018 คำพิพากษาของศาลตัดสินจำคุก โช แจ บอม เป็นเวลา 18 เดือน เนื่องจากพบหลักฐานแน่นหนาในคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต ที่มีข้อความข่มขู่นักกีฬาในสังกัด

17 ธันวาคม 2018 เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความ โช แจ บอม เพิ่มในข้อหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน เนื่องจากช่วงที่เขาเริ่มข่มขืน ชิม ซุก ฮี เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ระหว่างอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี ชิม ซุก ฮี ต้องเข้ารับการบำบัดจิตใจเป็นเวลานาน ข่าวการล่วงละเมิดนักกีฬาชื่อดังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนทำให้ประธานองค์กรกีฬาเกาหลีใต้ ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

วันที่ 21 มกราคม 2021 โค้ช โช แจ บอม ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี 6 เดือน โดยทนายความของนักกีฬาระบุว่า กำลังเตรียมเรียกร้องให้ศาลพิจารณาโทษเพิ่ม ที่อาจทำให้ระยะเวลาอยู่ในเรือนจำของโค้ชโชจะยาวนานขึ้นเกือบ 20 ปี

สิ่งที่ ชิม ซุก ฮี ต้องการนอกจากการให้คนผิดได้รับโทษจากการกระทำตามกฎหมาย คือการกล้านำเรื่องราวการถูกละเมิดมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน การทำความเข้าใจว่าการถูกละเมิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนที่อาจจะไม่ใช่เหยื่อแต่เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเขาจะไม่สามารถทำเรื่องแบบนี้กับใครได้อีก โดยหวังว่าเคสของเธอจะช่วยยกระดับให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาการกดขี่ทางเพศ และระบบอาวุโสของเกาหลีใต้ที่ฝังรากลึกในสังคมได้ไม่มากก็น้อย

...


ทหารอากาศหญิงฆ่าตัวตายหลังถูกเพื่อนร่วมงานล่วงละเมิดทางเพศ

เป็นเวลาหลายปีที่กองทัพเกาหลีใต้ถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการปกป้องเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เพศหญิงและพนักงานระดับชั้นผู้น้อย เนื่องจากในกองทัพต่างก็รับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และค่านิยมการลำดับชั้นอาวุโสเข้มข้นที่มีอยู่ในสังคมเกาหลีใต้มาไม่น้อย ซึ่งตอนนี้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังทหารหญิงคนหนึ่งฆ่าตัวตาย เพราะถูกเพื่อนร่วมงานล่วงละเมิดทางเพศ และผู้มีอำนาจก็ช่วยกลบเกลื่อนความผิดให้กับผู้ก่อเหตุ

ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมระบุว่า พันจ่าอากาศเอกหญิงนามสกุลลี ถูกเพื่อนร่วมอาชีพล่วงละเมิดทางเพศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเธอได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกองทัพ แต่กลับไม่มีการสอบสวนหรือลงโทษบุคคลที่ล่วงละเมิดทางเพศเธอแต่อย่างใด ก่อนพบว่าเธอเสียชีวิตในช่วงเดือนพฤษภาคม ตอนนี้ทางกระทรวงฯ ได้จับกุมตัวพันจ่าอากาศตรีนายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนร่วมงานแล้ว

หลังแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหม ครอบครัวของพันจ่าอากาศเอกหญิงระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงฯ พูดถึงคือคนในครอบครัวของพวกเขา ยืนยันว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศและยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว แต่ถูกผู้บังคับบัญชากดดันให้ถอนก่อนเกลี้ยกล่อมให้ยอมความ เมื่อรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ จึงทำเรื่องย้ายไปอยู่ฐานทัพอื่น

สิ่งที่น่าสลดใจที่สุดคืออีกหนึ่งคำบอกเล่าของครอบครัวพันจ่าอากาศเอกหญิงก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เธอได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างทำอัตวินิบาตกรรมเอาไว้ ภายหลังแม่ของเหยื่อตั้งคำถามถึงกองทัพระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า

“ทหารจะปกป้องประเทศได้อย่างไร ในเมื่อทหารไม่สามารถปกป้องบุคลากรในกองทัพได้”

วันที่ 4 มิถุนายน 2021 พลอากาศเอก ลี ซองยง (Lee Seong-yong) เสนาธิการทหารอากาศเกาหลีใต้ ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าผู้บัญชาการทหารอากาศ ตัดสินใจยื่นจดหมายลาออกแก่ประธานาธิบดี มุน แจ อิน (Moon Jae-in) เพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างสูงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของพันจ่าอากาศเอกหญิงแล้ว

ขณะเดียวกัน มีประชาชนประมาณ 350,000 คน ลงชื่อยื่นเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอนุมัติคำสั่งเปิดการสอบสวนการเหตุการณ์นี้อย่างละเอียดและเป็นธรรม รวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สืบสาวไปให้ถึงระดับผู้บังคับบัญชาที่เมินเฉยต่อคำร้องของเหยื่อ เพื่อนำตัวมาลงโทษฐานปกปิดคดี


‘อัตราการเกิดลดลง' ผลกระทบของระบบอนุรักษนิยมที่เข้มข้น

การทรวงมหาดไทยเกาหลีใต้ เปิดเผยข้อมูลประชากรประจำปี 2020 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ชี้ให้เห็นว่า จำนวนประชากรในประเทศมี 51,829,023 คน ลดลงจากปีก่อน 20,838 คน มีเด็กเกิดใหม่แค่ 275,815 คน ลดลง 10.65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยประชากรส่วนใหญ่ ณ ขณะนี้ คือกลุ่มช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยช่วงอายุ 50 ปี 16.7 เปอร์เซ็นต์ ช่วงอายุ 40 ปี 16 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ช่วงอายุ 30 ปี และ 20 ปี มีประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างชัดเจนมีส่วนส่งผลต่ออัตราการแต่งงานและการเกิด หลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านเงินเดือน ในปี 2019 รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงในประเทศ คือ 2.02 ล้านวอน ขณะที่รายได้เฉลี่ยของเพศชายอยู่ที่ 3.15 ล้านวอน และ 50.8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงในประเทศที่ทำงานได้รับเงินเดือนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขยาก เนื่องจากระบบอนุรักษนิยมอุปถัมภ์ การให้คุณค่ากับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้คนจำนวนมากยังไม่ยอมรับเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ข่าวอื่นๆ อย่างกรณีห้องแชต #Nthroom สะท้อนถึงอาชญากรรมทางเพศที่สาหัสสากรรจ์ รวมถึงการซ่อนกล้องแอบถ่ายจำนวนมากตามห้องแต่งตัว โรงแรม และห้องน้ำหญิง จากสถิติในปี 2007 พบประมาณ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นทุกปีจนในปี 2015 มีสถิติจากการแจ้งความและพบกล้องตามสถานที่ต่างๆ มากถึง 24.9 เปอร์เซ็นต์

เมื่อผู้หญิงหรือคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าถูกล่วงละเมิด พวกเขามักไม่กล้านำเรื่องที่เจอไปบอกใคร หรือเมื่อบอกจะพบถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อมให้ยอมความ หรือถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกายซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิต

กรณีที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้มีคล้ายคลึงกับสิ่งที่ประเทศจีนกำลังเผชิญ เมื่อคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้หญิง เริ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับคู่ครองที่เปลี่ยนไป หลายคนไม่อยากแต่งงาน ไม่ต้องการมีลูก จากความเครียดทางสังคม เศรษฐกิจ และระบบการศึกษา รวมถึงวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยมที่พบเจอ ทั้งหมดส่งผลต่ออัตราการเกิดที่ลดน้อยลงของเกาหลีใต้