• ‘นโยบายลูกคนเดียว’ แม้จะยกเลิกไปเมื่อปี 2015 แต่ยังส่งผลระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของประเทศจีนอย่างใหญ่หลวง
  • คนจีนจำนวนมากเริ่มเปิดรับค่านิยมใหม่ เช่น การครองตนเป็นโสด การเปิดรับความหลากหลายทางเพศ มุมมองการใช้ชีวิตของสตรีที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงโควิด-19 กับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ทำให้คนที่วางแผนมีบุตรอาจต้องทบทวนความคิดใหม่อีกครั้ง
  • ตัวเลขสถิติการเกิดและเสียชีวิตแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรหดตัว แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้คนมีบุตรเพิ่มขึ้นก็ตาม

จีนจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อค่านิยม ‘ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง’ เริ่มไม่ได้รับความนิยมในคนรุ่นใหม่อีกต่อไป ซึ่งส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่านิยมไม่อยากมีลูกหลายคนตามคนสมัยก่อน เป็นผลมาจาก ‘นโยบายลูกคนเดียว’ ที่สร้างความลำบากให้กับครอบครัวจีนจำนวนมาก

หากรัฐบาลจีนยังไม่สามารถแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่องทุกปีได้ เห็นทีการแข่งขันทางอุตสาหกรรมการค้า การผลิต และการแข่งขันเรื่องแรงงานระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา กับอินเดีย อาจดูยากขึ้นกว่าที่คิด


จีนควบคุมจำนวนคนที่พุ่งสูงด้วย ‘นโยบายลูกคนเดียว’

หลายสิบปีก่อน จีนอยู่ในอันดับหนึ่งประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมประชากร ด้วยการออกนโยบายลูกคนเดียว (One-child Policy) ในปี 1979 พร้อมบทลงโทษที่เข้มงวดอย่างการจ่ายค่าปรับราคาสูง หากไม่มีเงินต้องถูกยึดทรัพย์ หรือบางกรณีถูกบังคับให้ทำแท้ง ส่วนเด็กที่ไม่ใช่ลูกคนแรกจะไม่ได้รับสถานะพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หลังประกาศใช้นโยบายลูกคนเดียวมา 34 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2013 รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนเรื่องการมีบุตรในบางกรณี ด้วยการยอมให้ประชากรบางกลุ่มมีบุตรได้ 2 คน

ผลสำรวจประชากรประจำปี 2014 ระบุว่า มีชาวจีนที่ไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 13 ล้านคน ราว 6.5 ล้านคน เป็นลูกคนที่สองที่เกิดมาโดยผิดข้อตกลงนโยบายลูกคนเดียว และทั้งหมดล้วนเสียค่าปรับแก่รัฐบาลท้องถิ่น แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้แน่ชัดเลยว่าเงินค่าปรับที่หลายครอบครัวต้องเสียให้รัฐบาลท้องถิ่นอยู่ที่ไหน ถูกนำไปใช้กับอะไรบ้าง

วันที่ 29 ตุลาคม 2015 พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศยุตินโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้มานานกว่า 3 ทศวรรษ อนุญาตให้คู่สามีภรรยาทุกคู่มีลูกได้ 2 คน

ตลอดระยะเวลากว่า 36 ปี จีนพบกับเศรษฐกิจที่ซบเซา อัตราการซื้อลดลงตามอัตราการเกิด ปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน ประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีความไม่สมดุลระหว่างเพศอย่างรุนแรง เมื่อผู้ตั้งครรภ์ที่มีลูกคนแรกมาก่อนแล้ว ทราบว่าเด็กคนที่สองในท้องเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่มักทำแท้งตามค่านิยมที่มีอคติต่อลูกสาว หรือเมื่อรู้ว่าตั้งท้องอีกครั้ง คู่แต่งงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ ดังนั้น เพื่อปรับปรุงการพัฒนาประชากรอย่างสมดุล และแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย นโยบายลูกคนเดียวจึงต้องยกเลิกไป

...


ค่าใช้จ่ายแลกความคาดหวังที่มีต่อลูกคนเดียว

แม้รัฐบาลจีนจะประกาศยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2015 แต่กฎที่อยู่มาหลายสิบปีฝังลึกลงในสังคมจีน

เมื่อมีลูกได้แค่คนเดียว บางครอบครัวสนับสนุนในสิ่งที่เด็กอยากเป็น เปิดโอกาสให้เลือกเส้นทางชีวิตตามความฝัน ความชอบ หรือความถนัด แต่หลายครอบครัวเกิดความรู้สึกกังวลและเป็นห่วง กลัวว่าลูกจะไม่มีโอกาสหาความถนัดของตัวเอง ช่วงที่จีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว พ่อแม่จำนวนมากจึงยอมลงทุนกับการศึกษา ส่งลูกเรียนพิเศษ เรียนดนตรี เรียนทำอาหาร เรียนกีฬา หรือซื้อคอร์สกิจกรรมด้านความถนัดอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน

นอกจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปถึงสูงเริ่มพบว่าตนต้องเสียเงินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ความเชื่อมั่นของชาวจีนต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ในประเทศตัวเองเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนส่วนใหญ่มักยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อสินค้าจากบริษัทต่างชาติ

ในแง่สวัสดิการและการรักษาพยาบาล จีนถือเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยในระดับไม่ดีนัก การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานหรือดีที่สุดต้องแลกมาด้วยเงินสินบนจำนวนมาก บ้างก็เพื่อลัดคิว เพื่อหมอชื่อดัง หรือเลือกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน

การบังคับให้มีลูกได้แค่หนึ่งคน ส่งผลให้ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากทุ่มเงินหมดหน้าตักเพื่อบุตรหลานของพวกเขา


เมื่อค่านิยม ‘ลูกหลานเต็มบ้าน’ ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

หลังประกาศยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว รัฐบาลจีนเสนอเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีบุตร 2 คน ขยายระยะเวลาการลาคลอด ในหลายเมืองมีสวัสดิการเพิ่มเติม มอบบริการรถรับ-ส่ง แก่มารดาที่มีลูก 2 คน

การเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลัน ทำให้หลายครอบครัวรู้สึกต่อต้านและลดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

จากการให้สัมภาษณ์แบบไม่ออกนามต่อสื่อต่างประเทศ พ่อแม่จำนวนมากมองว่าจำนวนบุตรควรเป็นเรื่องในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของรัฐที่จะกำหนดตัวเลขชัดเจน แรกเริ่มรัฐบาลบังคับให้มีลูกคนเดียว ทำให้ครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งต้องจ่ายค่าปรับราคาแพง ลูกคนถัดมาไม่สามารถลงทะเบียนอย่างถูกต้อง ทว่าวันหนึ่งรัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายเดิม บอกว่าคนควรมีลูกมากกว่าหนึ่ง สร้างความสงสัยว่าหลังจากนี้จะมีการประกาศนโยบายอื่นหรือไม่ ไปจนถึงการตั้งคำถามว่า การมีบุตรไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนหรือ

หลายสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นหลังเริ่มมีค่านิยมใหม่ที่มองว่า การมีลูกคนเดียวไม่ใช่เรื่องแย่ สวนทางกับค่านิยมคนจีนรุ่นก่อนที่ชอบมีลูกจำนวนมาก เหตุผลที่ลูกคนเดียวเริ่มเป็นตัวเลือกน่าสนใจ เนื่องจากเวลานี้ คนวัยทำงานต้องเผชิญปัญหาทางการเงิน พวกเขาต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ควบคู่กับการทำงานหนักนำเงินมาสำรองไว้กับลูก คนวัยทำงานจึงมีแนวโน้มประหยัดและออมเงินมาก ไม่อยากหยิบจ่ายเงินออกจากกระเป๋า


ผลกระทบจากนักการเมืองสูงวัยผู้กุมอำนาจปกครอง

ในปี 2018 อัตราการเกิดในจีนอยู่ที่ 15.23 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 2 ล้านคน ผลของนโยบายลูกคนเดียวทำให้อัตราการทำหมันเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ เมื่อสำรวจลงลึกมากขึ้นพบว่า กว่าครึ่งของครอบครัวที่มีลูกแล้วหนึ่งคน ไม่มีความตั้งใจจะมีลูกเพิ่มเนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง

ในวาระฉลองครบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิสนิสต์จีน รัฐบาลเตรียมเพิ่มงบด้านการศึกษา เร่งพัฒนาโรงเรียนรัฐระดับอนุบาล สร้างความมั่นใจและการศึกษาที่ทั่วถึงให้ลูกหลานชนชั้นกรรมาชีพ ดึงดูดให้แรงงานชายหญิงไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการยื่นการศึกษาที่ดีและเข้าถึงง่าย แต่นักวิชาการจีนที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงและไต้หวัน ต่างวิพากษ์วิจารณ์การฟื้นฟูการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า ‘อัดแน่นไปด้วยแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่’

คาร์ล มินซ์เนอ (Carl Minzner) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่ Fordham Law School โรงเรียนกฎหมายในนิวยอร์ก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง End of an Era: How China’s Authoritarian Revival is Undermining Its Rise เล่าถึงการฟื้นฟูระบอบเผด็จการในจีนที่บ่อนทำลายการเกิดของประเทศจีนอย่างไรบ้าง เปรียบเทียบจำนวนนักการเมืองที่พบว่า ผู้ชายล้วนได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ส่วนนักการเมืองหญิงแทบหาไม่ได้ในสภา รวมถึงคำอธิบายว่านักการเมืองชายอาวุโสอาจมีแนวคิดไม่เท่าทันโลกโลกาภิวัตน์ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนของหนังสือวิพากษ์สังคมจีน ณ ปัจจุบัน คล้ายคลึงกับสิ่งที่นักวิชาการในฮ่องกงและไต้หวันวิเคราะห์ไว้

หลักสูตรการเรียนการสอนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เต็มไปด้วยระบอบชายเป็นใหญ่ เห็นได้จากการระบุ ‘บทบาทหน้าที่ที่ถูกต้อง’ สำหรับเยาวชน สอนให้เด็กผู้ชายต้องเริ่มคิดถึงสายอาชีพที่ตนอยากเป็น ส่วนเด็กผู้หญิงถูกสอนให้อ่อนหวาน และตระหนักถึงความเป็นแม่

ความไม่เสมอภาคทางเพศที่อยู่ในแบบเรียนปัจจุบัน ส่งผลให้ชาวจีนรุ่นใหม่บางคนไม่ต้องการมีบุตร หรือถ้ามีบุตรก็อยากส่งไปยังโรงเรียนเอกชน หากบ้านไหนมีลูกสาวที่ไม่ได้ซีเรียสว่าเธอต้องแต่งงานเป็นแม่บ้าน การเลือกปฏิบัติตั้งแต่สถานศึกษาจนถึงที่ทำงาน ย่อมน่าเป็นห่วงในอนาคต ประกอบกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้แผนการมีบุตรในเร็วๆ นี้ของหลายคนต้องพับเก็บไปก่อน

...


จำนวนประชากรส่งผลต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก

ตง อูเซียง (Dong Yuzheng) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาประชากรแห่งมณฑลกวางตุ้ง ระบุถึงจำนวนทารกที่เกิดในปี 2019 คิดเป็น 14.65 ล้านคน ลดลงจากเดิม 580,000 คน มีอัตราการเกิดเพียง 10.48 ต่อพันประชากร จำนวนดังกล่าวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1949 และในปีเดียวกันมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 420 ล้านคน ส่วนในปี 2020 อัตราการเกิดลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ลงต่อเนื่องมาแล้วถึง 4 ปี

เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ลดลง GDP ต่อหัวจึงเพิ่มขึ้น พร้อมกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้นตามมาด้วย แต่จีนจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติผู้สูงวัยอย่างเลี่ยงไม่ได้

นักวิจัยจากธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China: PBOC) อธิบายปัญหาที่จีนกำลังเผชิญว่า อัตราการเกิดที่ลดลงทุกปีทำให้ประเทศเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับอินเดียและสหรัฐอเมริกา มีชาวจีนจำนวนมากให้ความสนใจย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ แม้จะมีอายุมากก็ตาม แต่คนกลุ่มนี้มีทั้งทุนและความรู้ที่จีนไม่ควรปล่อยให้หลุดมือ และจากสถิติที่ได้จากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประชากรในจีนลดลง 2.2 เปอร์เซ็นต์ สวนกับประชากรของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน แรงงานของอินเดียก็จะมีจำนวนมากขึ้นและมีทักษะเฉพาะทางแซงหน้าจีนในไม่ช้า

เกิดการคาดการณ์ว่า หลังปี 2025 จีนมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนผู้บริโภค เมื่อเข้าสู่ปี 2050 สัดส่วนแรงงานของจีนจะน้อยกว่าสหรัฐฯ คิดเป็น 1.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขประชากรจีนประจำปี 2021 จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ และตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวตัดสินสำคัญที่ระบุว่าจีนเตรียมตัวรับมือกับอะไรบ้าง

แม้นโยบายลูกคนเดียวจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดที่ลดลง แต่ยังมีเหตุผลอีกหลายประการ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ - ไม่ใช่แค่ในจีน - ไม่ต้องการมีลูกหรือมีลูกจำนวนมาก อาทิ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อการศึกษาและสุขภาพ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของผู้หญิงยุคปัจจุบันต่อการแต่งงาน หรือหย่าร้าง การเปิดรับค่านิยมครองตัวเป็นโสดที่มากขึ้น คู่กับวัฒนธรรมคลุมถุงชนที่ลดลงเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งการที่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่นับถืออุดมการณ์แบบขงจื๊ออีกต่อไป ทุกอย่างล้วนทำให้ความต้องการมีบุตรเหือดหายจนแทบเป็นศูนย์

...


อ้างอิง: