เจมส์ เออร์วิน นักบินอวกาศขององค์การนาซา ยืนอยู่ข้างยานสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ในปี พ.ศ.2514.
หลังจาก แคนาดา ลงนามร่วมกับ สหรัฐอเมริกา ใน “สนธิสัญญาเกตเวย์” (Gateway Treaty) เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อเปิดทางให้แคนาดาได้มีส่วนร่วมในการสำรวจดวงจันทร์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ในอนาคต ดังนั้น แคนาดาจะได้สิทธิ์ส่งนักบินอวกาศร่วมเดินทางไปยังดาวบริวารของโลกในปี พ.ศ.2566 รวมถึงสนับสนุนด้านอุปกรณ์จักรกลที่สำคัญ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ แชมเปญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ ของแคนาดา ก็ประกาศว่าแคนาดาวางแผนที่จะลงจอดยานสำรวจบนดวงจันทร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้านองค์การอวกาศแคนาดาก็รับลูกต่อ โดยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการทำงานในภารกิจดวงจันทร์ว่า จะใช้ยานยนต์ไร้คนขับเพื่อรวบรวมภาพและวัดพื้นผิวหลุมอุกกาบาตของดวงจันทร์ ซึ่งลิซา แคมป์เบลล์ ผู้อำนวยการองค์การอวกาศแคนาดา กล่าวว่า เตรียมจะยื่นคำร้องขอ รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาจาก 2 บริษัทในอีกไม่กี่เดือนนับจากนี้
ล่าสุด นิวซีแลนด์ก็ประกาศว่าได้ลงนามในข้อตกลงด้านอวกาศกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา โดยเป็นประเทศที่ลงนามลำดับที่ 11 ใน “ข้อตกลงอาร์ทิมิส” (Artemis Accords) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านอวกาศ และสนับสนุนแผนการของหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯในการส่งนักบินอวกาศกลับไปยังดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ.2567 รวมถึงทำภารกิจประวัติศาสตร์ และแสนทะเยอทะยานนั่นคือส่งนักบินอวกาศเดินทางสู่ดาวอังคารในอนาคต
นาไนอา มาฮูตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ เผยว่า นิวซีแลนด์มุ่งมั่นสร้างความมั่นใจว่าการสำรวจอวกาศขั้นต่อไปจะดำเนินไปอย่างปลอดภัย ยั่งยืน และโปร่งใส โดยปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มีความสนใจเป็นพิเศษและต้องการทำให้แน่ใจว่าแร่ธาตุที่นำมาจากดวงจันทร์ หรือวัตถุอื่นๆในอวกาศนั้นจะถูกนำมาใช้อย่างยั่งยืน.
...
ภัค เศารยะ