เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองแล้วว่าวัคซีนต้านไวรัสโควิด–19 ยี่ห้อ “ซิโนแวค” ของประเทศจีน ได้ผลและสามารถนำไปใช้งานได้ในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่การฉีดวัคซีนมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

จากแถลงการณ์ดังกล่าวสรุปว่า วัคซีนรูปแบบเชื้อตาย “ซิโนแวค” ของจีน เหมาะที่จะฉีดให้แก่ผู้มี “อายุ 18 ปีขึ้นไป” ในปริมาณ 2 โดส โดยให้ทิ้งระยะเวลาระหว่างโดสแรกกับโดสที่สอง 2–4 สัปดาห์ และสำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน จากข้อมูลพบว่าซิโนแวค ช่วยป้องกันไม่ให้แสดงอาการป่วยได้ 51 เปอร์เซ็นต์

และช่วยป้องกันไม่ให้ล้มป่วยรุนแรง หรือถึงขั้นต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

ถึงข้อมูลที่จีนส่งมานั้น มีผู้เข้ารับการทดสอบที่อายุมากกว่า 60 ปีน้อย จึงไม่อาจคำนวณหาค่าประสิทธิภาพของวัคซีนต่อกลุ่มผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก “ไม่แนะนำ” ให้ประเทศต่างๆ “ตั้งเพดานอายุ” การฉีดวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากข้อมูลการใช้งานในหลายๆประเทศ บ่งชี้ว่าวัคซีนช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กลุ่มผู้สูงอายุด้วยเหมือนกัน

พร้อมแนะนำให้ประเทศที่ฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุ รวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ เพื่อยืนยันผลลัพธ์ และเสริมความเชื่อมั่นแก่ประเทศอื่นๆที่อาจนำวัคซีนไปใช้ในอนาคต

ฟังแล้วพอลบข้อครหา เสียงบ่นอุบอิบกันในประเทศต่างๆได้หรือไม่ ว่าทำไมรัฐบาลไปเอาวัคซีนที่ยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกมาฉีดให้ประชาชน?

ส่วนเรื่อง “ผลข้างเคียง” ไซด์เอฟเฟกต์ ที่คนส่วนใหญ่มีความกังวลกันนั้น ขอหยิบยกข้อมูลที่ได้รับจากนายลู่ หยงเจียง เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน พร้อมข้อมูลของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีน และยกตัวอย่างสิ่งที่กำลังเป็นไปภายในแดนพญามังกร

...

ปัจจุบัน จีนมีการใช้งานวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 ชนิด ประกอบด้วย วัคซีนชนิดเชื้อตาย “ซิโนแวค” และ “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งให้ฉีดในปริมาณ 2 โดส และวัคซีนชนิดอะดีโนไวรัส “แคนซิโน” ที่ให้ฉีดเพียงโดสเดียว วัคซีนที่ใช้งานในจีนไปแล้วส่วนใหญ่คือสองตัวแรก ส่วนตัวหลังแคนซิโนเพิ่งถูกใช้งานได้ไม่นานมานี้

โดยจากการเก็บข้อมูลติดตามผลข้างเคียงระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2563 ถึง 30 เม.ย.ปีนี้ แผ่นดินใหญ่จีนมีการฉีดวัคซีนจำนวน 265 ล้านโดส และได้รับรายงานเกิดผล ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์รวม 31,434 คน คิดเป็นสัดส่วน 11.86 โดสต่อ 100,000 โดส

แบ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ธรรมดา เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือคลื่นไส้ 26,078 คน ในจำนวนนี้เกิดกรณีไข้สูง 2,722 คน เกิดอาการบวมแดงตรงที่บริเวณฉีดวัคซีน 675 คน และกรณีเกิดก้อนแข็งภายในกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน 304 คน รวมแล้วอาการเหล่านี้ครองสัดส่วนของอาการไม่พึงประสงค์ 82.96 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเกิดคือ 9.84 โดสต่อ 100,000 โดส

แต่สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่ผิดปกติ มีทั้งหมด 5,356 คน ครองสัดส่วน 17.04 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเกิดคือ 2.02 โดสต่อ 100,000 โดส ในจำนวนนี้อาการข้างเคียง 3 อันดับแรกคือ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 3,920 คน อาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง 107 คน อาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง 75 คน ซึ่งจากตัวเลข 5,356 คนนี้ ถือว่าเข้าข่ายรุนแรง 188 คน อัตราการเกิดคือ 0.07 โดสต่อ 100,000 โดส

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงเคาะความเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ณ ตอนนี้ การรับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าพิจารณาจาก “ประโยชน์ส่วนบุคคล” หรือ “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และความ ต้องการของประเทศชาติ” ที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศโดยเร็วที่สุด ประชาชนที่มีความพร้อมทุกคนควรรับฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

กรุงปักกิ่ง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กว่า 30.48 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 16 ล้านคน อัตราการฉีดประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป อยู่ในระดับมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แม้จะยังคงมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รักษาระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือไว้อยู่เสมอ แต่ก็ทำให้การรับประทานอาหารตามร้าน การท่องเที่ยว ใช้บริการสถานที่ออกกำลังกาย ชมภาพยนตร์ เกือบเข้าสู่ภาวะปกติ นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ที่สำคัญ สื่อจีนยังให้ความเห็นทิ้งท้าย ชาวจีนส่วนใหญ่มั่นใจในรัฐบาล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับการรณรงค์ฉีดวัคซีน ยินดีรับวัคซีนชนิดใดก็ได้ตามแต่ทางการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบ จึงคาดการณ์ว่าจีนจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในแผ่นดินใหญ่ได้ไม่ยากภายในปีนี้

...

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย “วัคซีน” มาเรื่อยๆแล้ว เหลือเพียงเซตระบบให้เร็ว เลิกหวังผลการเมือง ตีรวนกันในห้วงเวลาความเป็นความตายเสียที ก็เชื่อว่าเราจะกลับมาฟื้นในเวลาไม่นานเหมือนกัน.

วีรพจน์ อินทรพันธ์