อันตรายไม่แพ้มรณกรรมของผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19 คือ การศึกษาของเยาวชนในทุกระดับของทั้งโลก มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีกระบวนการหล่อหลอมตามลำดับช่วงอายุ การหล่อหลอมมีทั้งที่บ้านและโรงเรียน นอกจากการศึกษาที่เยาวชนต้องเรียนอย่างเป็นระบบทีละระดับ การอยู่ร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีการปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้ากับกลุ่มและสังคม

เข้าปีที่ 2 แล้วที่เยาวชนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ไปโรงเรียน หรือไปๆ หยุดๆ วิถีชีวิตของเยาวชนแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เยาวชนขาดการออกกำลังกายแบบเป็นทีม ไม่มีกิจกรรมกลุ่ม เรื่องเหล่านี้มีผลต่อสังคมมนุษย์ในอนาคตเป็นอย่างมาก

แม้แต่สิงคโปร์ซึ่งเคยมีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นศูนย์ หรือเป็นตัวเลขหลักเดียวมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์มีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เตรียมสั่งปิดสถานศึกษาระดับประถม มัธยม และวิทยาลัย ปรับไปใช้การเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ 19 พฤษภาคม 2564

เยาวชนรุ่นนี้อยู่กับความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 บางช่วงก็มีความปลอดภัย บางช่วงก็อันตรายสุดขีด สถานการณ์ของโควิด-19 ในไต้หวันเมื่อปีที่แล้วถือว่าดีอยู่ในอันดับต้นของโลก เผลอแว้บแป๊บเดียว ไต้หวันพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันละหลายร้อยคนเสียแล้ว ทำให้ทั้งประเทศต้องตกอยู่ในมาตรการควบคุมทางสังคมสูงสุด

ทั้งไต้หวันและสิงคโปร์มีภูมิประเทศเป็นเกาะ คนเดินข้ามพรมแดนทางบกไม่ได้เหมือนประเทศอื่น มีชื่อเสียงในด้านการบริหารจัดการทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุขเป็นเยี่ยม แต่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากในตอนนี้ มาจากปัญหาที่เหมือนกันคือ ฉีดวัคซีนได้ช้า

ไต้หวันมีประชากร 23 ล้านคน แต่สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนไปแล้วเพียง 3 แสนโดส แถมยังใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา/ ออกซ์ฟอร์ดเพียงยี่ห้อเดียว ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าวัคซีนที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 20 ล้านโดสจะมาถึงเมื่อใด สิงคโปร์มีประชากร 5.7 ล้านคน ปัญหาของสิงคโปร์ก็เหมือนไต้หวันคือ การฉีดวัคซีนล่าช้า วัคซีนที่สั่งซื้อมาไม่เพียงพอต่อความต้องการ

...

ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งโลกมี 163.74 ล้านคน ตายไปแล้ว 3.39 ล้าน ตัวเลขที่น่าสนใจเป็นของจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก กลับมีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับที่ 97 ของโลก มีผู้ติดเชื้อรวมเพียง 90,872 คน ความสำเร็จในการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดคือ การใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

ไทยเคยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาด แต่วันนี้เรามีผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 91 ของโลก 101,447 คน ที่น่าตกใจคือ ผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ตามเรือนจำ ที่มียอดสะสมในการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 มากถึง 10,748 คน ผมดูรายงานจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 17 พฤษภาคม 2564 เรามีผู้ฉีดวัคซีนครบ 708,300 คน จากจำนวนประชากร 66,186,727 คน (หลักฐานทะเบียนราษฎร 31 ธันวาคม 2563) คิดเป็นร้อยละ 1.07

กุญแจที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเราเดินต่อไปได้คือการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หลายคนข้อมูลไม่เพียงพอ แต่ก็โพสต์ในโซเชียลเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้คนกลัวการฉีดวัคซีน ทุกวันนี้ทั้งโลกยอมรับกันแล้วครับว่า “ฉีดวัคซีนป้องกันดีกว่าไม่ฉีด”

ประเทศส่วนใหญ่เผชิญกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และความระส่ำระสายทางสังคม ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับหายนะนี้ ดีที่สุดก็คือการร่วมไม้ร่วมมือกันผ่านวิกฤตินี้ไปให้ดี และช่วยเหลือกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ที่ต้องช่วยกันระดมความคิดก็คือ การแก้ไขปัญหาความชะงักงันทางการศึกษาและพัฒนาการของเยาวชน ที่หลายคนเปรียบว่าเป็นยุคมืดของการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้อันตรายสำหรับอนาคตของประเทศ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com