“เว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” (Social Distancing) กลายเป็นวลีคุ้นเคยที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามท่ามกลางการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรค “โควิด-ไนน์ทีน” (COVID-19) เพราะส่วนใหญ่แล้วเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายผ่านละอองจากทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนมีอาการไอหรือจาม ดังนั้น คนเราควรรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ช่วงของการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” จึงอาจมีความไม่สะดวกสบายทางกายบ้าง แต่ก็ไม่ได้สูญเสียการสื่อสาร เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก จนผู้คนสามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้หลายวิธี โดยไม่ต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรืออยู่ร่วมกัน
แต่คงต้องเปลี่ยนแปลงจากการใช้คำว่า “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” ไปใช้ “ฟิสิคัล ดิสแทนซิ่ง” (Physical Distancing) หรือ “การเว้นระยะห่างทางกายภาพ” แทนที่ เมื่อองค์การอนามัยโลกเริ่มใช้วลีใหม่นี้ เนื่องจากวลีดังกล่าวอธิบายการปฏิบัติ “เว้นระยะห่าง” ได้ตรงจุดและเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีกว่าการ “เว้นระยะห่างทางสังคม”
การ “เว้นระยะห่างทางกายภาพ” หมาย ความว่าคนเราไม่จำเป็นต้องตัดการเชื่อมต่อกับคนรักหรือคนในครอบครัว เพราะ “ระยะทางกายภาพ” นั้นคือระยะทางภูมิศาสตร์ เช่น ถูกวัดในหน่วยเมตรหรือเซนติเมตร แต่คนเรายังติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านช่องทางเทคโนโลยี ขณะที่ “ระยะทางสังคม” อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ เพราะคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะทางด้านจิตใจก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน จึงต้องแยกความแตกต่างระหว่าง 2 วลีนี้
...
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้คนมีระยะห่างระหว่างกันมากกว่า 1 เมตร ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางรายแนะนำว่าให้รักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรน่าจะดีกว่า เอาเป็นว่าห่างกันไว้ 2 เมตรก็ดูอุ่นใจกว่าเยอะ เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ไวรัสโคโรนาเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น แถมยังส่งผลต่อวิถีชีวิตให้เราต้องเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตที่แปลกประหลาดต่างไปจากวิถีเดิมๆ แม้จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างกายก็ตามที แต่ก็อย่าให้รู้สึกถึงความห่างเหินหรือโดดเดี่ยวระหว่างกัน.
ภัค เศารยะ