เมื่อรัฐอยู่ในสภาพล้มเหลว ผลกระทบที่ตามมาจึงตกอยู่กับประชาชน ดั่งเช่นสถานการณ์ของ “เวเนซุเอลา” ที่เผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ในระดับที่ยากจะฟื้นคืน

จากที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยของภูมิภาคอเมริกาใต้ แต่ทุกวันนี้ประชาชนกว่า 4.3 ล้านคน กลับตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ลี้ภัยไปต่างแดน หลังขาดแคลนสาธารณูปโภค ไม่ว่าไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ไปจนถึงระบบการให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย

ตั้งแต่ปี 2561 มีชาวเวเนซุเอลามากกว่า 5,000 คนต่อวัน เดินทางออกจากประเทศ เพื่อแสวงหาความปลอดภัย จนกลายเป็นการอพยพและการลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด

แม้ประเทศไทยกับเวเนซุเอลาจะห่างกันข้ามทวีป ทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หากได้ฟังคำบอกเล่าในฐานะคนเหมือนกันแล้ว อาจทำให้ทัศนคติของตัวเราเปลี่ยนไป

โดยไม่นานมานี้ “ปู–ไปรยา ลุนด์เบิร์ก” ได้มีโอกาสมาเล่าประสบการณ์ตรงจากภาคสนาม ถึงสถานการณ์อันเลวร้าย หลังเดินทางลงพื้นที่ในประเทศโคลอมเบีย ในฐานะทูตสันถวไมตรี UNHCR คนแรกของประเทศไทย ในช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ปูเคยไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยซีเรียในประเทศจอร์แดน และชาวโรฮีนจาในประเทศบังกลาเทศ แต่การไปโคลอมเบียครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เนื่องจากไม่ได้ไปค่ายผู้ลี้ภัย แต่เป็นศูนย์รับรองผู้อพยพในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรองรับแต่เคสที่เปราะบาง เสี่ยงภัยจริงๆ พร้อมกับเยือนสะพานข้ามพรมแดนตรงแม่น้ำตาชีรา ชายแดนโคลอมเบีย-เวเนซุเอลา ซึ่งเห็นผู้อพยพเป็นหลักพันคน

...

ด้วยความช่วยเหลือที่มีจำกัด ทำให้ทุกๆคืนเจ้าหน้าที่ยูเอ็นต้องคัดเลือกอย่างหนักใจว่าจะช่วยใครก่อน ทั้งที่ทุกคน ณ ตรงนั้นคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าคนป่วย คนพิการ แม่ลูกอ่อน หญิงตั้งครรภ์ จำนวนมากข้ามชายแดนมายังโคลอมเบีย และมานอนข้างถนนเพราะไม่มีที่อยู่ ไม่มีเอกสารใดๆติดตัว

จากการได้พูดคุยกับแอนกี หญิงวัย 24 ปีรายหนึ่งเล่าว่า อพยพข้ามพรมแดนมากับลูกน้อย 2 คน และคุณแม่ เพราะต้องการต่อชีวิตอยู่กับครอบครัวให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากตอนนี้ป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 และที่เวเนซุเอลาไม่สามารถหายารักษาได้อีกต่อไป

ขณะที่อีกรายชื่อมารี ที่หลบหนีมาพร้อมกับลูกพิการวัย 3 ขวบ บอกให้ฟังว่า ลี้ภัยเข้าโคลอมเบียและพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการขายขนม เป็นค่าเช่าบ้านและค่ายา แต่ตอนนี้ทำต่อไม่ได้แล้วเพราะลูกป่วยหนักต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้มาขอความช่วยเหลือ และหวังว่าลูกจะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีกหลายครอบครัวไม่ได้โชคดีขนาดนั้น ต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวทุกคืน เนื่องจากมีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธขี่มอเตอร์ไซค์วนเวียนมาถามว่าจะยอมขายอวัยวะของลูกหรือไม่ โดยกลุ่มเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปที่แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีลูกเล็กๆ

“คนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และต้องพักพิงตามมีตามเกิดเหล่านี้ พบกับความโหดร้ายเหลือคณานับทั้งข่มขู่ ปล้น ลักพาตัว หรือหลอกไปขายอวัยวะ ซึ่งอย่างประเด็นหลังสุดทราบมาว่าจะมีการเลือกขอซื้ออวัยวะเด็กผู้ชาย แลกกับค่าตอบแทนประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น แต่สำหรับบางครอบครัวแย่ยิ่งกว่านั้น คือตื่นมาก็ไม่เห็นลูกตัวเองอีกต่อไป”

เจอเรื่องราวแบบนี้ยอมรับว่าเครียด และเปลี่ยนโลกทัศน์ไปมาก จากแต่ก่อนที่มองโลกในอีกแบบ การได้สัมผัสกับกลิ่นของความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีวันลืม แต่ในเมื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไปท้อถอยไม่ได้ หน้าที่ของทูตสันถวไมตรีไม่ใช่การไปร้องไห้หรือเสียน้ำตา และไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทอง เพราะงบของ UNHCR ต้องไปที่ผู้ลี้ภัยทั้งหมด ค่าใช้จ่ายค่าเดินทางปูต้องออกเอง

การทำงานของ UNHCR จะตามหากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งการออกเอกสาร การแพทย์ ที่พักพิงชั่วคราว ปัจจัย 4 การเยียวยาจิตใจ และประสานให้อยู่อย่างเกื้อกูลกับคนพื้นที่ แต่จำนวนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพยังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องการงบประมาณ ซึ่งขาดอยู่ประมาณ 1,300 ล้านบาท

สำหรับช่องทางบริจาคครั้งนี้ ที่ www.unhcr.or.th/donate/venezuela  หรือ SMS พิมพ์ 99 ส่งมาที่ 4141099 เพื่อบริจาคครั้งละ 99 บาท หรือโทร. 0–2206–2144 ซึ่งเจ้าหน้าที่ UNHCR ระบุด้วยว่า การบริจาคเงินดีกว่าสิ่งของ เพราะบางครั้งน่าเสียดายมากว่าของที่ได้รับมานั้นไม่ตรงกับความจำเป็นของผู้ลี้ภัย

ปูเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนใดเกิดมาแล้วอยากเป็นผู้ลี้ภัย และมีชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่แต่ละครั้งมอบความทรงจำและพลังให้ทำงานหนักและมุ่งมั่น เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยทั่วโลกต่อไป พร้อมหวังว่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์