กลายเป็นปัญหาของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังเกิดกรณีเครื่องบินรบ “F–35 Lightning II” ตกระหว่างฝึกซ้อม และพบปัญหาที่ท่อน้ำมันจนต้องสั่งงดขึ้นบิน
งานนี้คงต้องขอบคุณเครดิตและอิทธิพลที่สหรัฐฯสั่งสมมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เลยดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบเท่าไรกับท่าทีของแต่ละประเทศ ที่สนใจอยากได้เจ้าเอฟ-35 มาไว้ในครอบครอง
ทั้งที่ความจริงแล้วมีรายงานมาตลอดว่าเอฟ-35 ถือเป็นโครงการอาวุธที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ไม่ว่าซอฟต์แวร์ระบบการจ่ายอากาศในเครื่อง นักบินบางรายเกิดอาการไฮพ็อกเซียภาวะพร่องออกซิเจน สมดุลล้อหน้าไม่ดีจนทำให้เครื่องแกว่งตอนเทกออฟจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ปัญหาระบบเครื่องยนต์ที่เคยเกิดไฟลุกไหม้
หรือกระทั่งปัญหาด้านดิจิทัล ตัวเครื่องทำการเก็บข้อมูลทั้งหมดระหว่างบิน และส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์คลาวด์ของบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งบรรดาต่างชาติที่อยากซื้อจี้ว่า ข้อมูลความมั่นคงประเทศรั่วหมด แล้วหากเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯถูกเจาะระบบล้วงข้อมูลจะทำเช่นไร
จากการแก้ปัญหาต่อเนื่อง จึงทำให้ งบประมาณการวิจัยและผลิตกระโดดขึ้นไปเรื่อยๆ แค่เมื่อ 4 ปีก่อน โครงการนี้ก็ถูกวิจารณ์ยับว่า “เกินงบ” ไปแล้วกว่า 163,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.05 ล้านล้านบาท) ขณะที่การคาดคะเนมูลค่าโครงการทั้งหมด เชื่อว่าอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านดอลลาร์ (48.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า แรง ผลักดันทางการเมือง และด้วยการที่โครงการมีมูลค่ามหาศาลเกินไป จึงทำให้ไม่มีใครกล้าโค่นมันลง
ทั้งนี้ เอฟ-35 ถือเป็นเครื่องบินรบแบบพรางเรดาร์ “สเตลธ์” ของบริษัทล็อคฮีดมาร์ติน สหรัฐฯ เริ่มทดลองบินครั้งแรกใน พ.ศ.2549 (12 ปีก่อน) มีทั้งหมด 3 รุ่นคือ เอฟ–35 เอ แบบขึ้นลงรันเวย์มาตรฐาน เอฟ–35 บี แบบขึ้นลงทางดิ่งคล้ายเครื่องแฮร์ริเออร์ และรุ่น เอฟ–35 ซี แบบขึ้นลงจอดเรือบรรทุกเครื่องบิน
...
ราคาปัจจุบันตกลำละ 88 ล้านดอลลาร์ (2,728 ล้านบาท) สำหรับรุ่นเอมาตรฐาน ซึ่งนอกจากสหรัฐฯที่เป็นไฟต์บังคับ ยังมีอังกฤษ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่สนใจ ส่วนอิสราเอลนำไปปฏิบัติการรบจริงในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสสวนทางบ้างอย่างเยอรมนี ที่สนใจเอฟ–15 กับเอฟ–18 มากกว่า หรือญี่ปุ่นที่อยากได้แบบไฮบริด คือเอาคุณสมบัติเด่นของเอฟ–35 กับ “เอฟ–22 แรพเตอร์” มารวมกัน.
ตุ๊ ปากเกร็ด