เมื่อเดือน ต.ค.2560 มีการค้นพบวัตถุระหว่างดวงดาวลักษณะคล้ายแท่งซิการ์ออกสีแดง เป็นหินอวกาศต่างถิ่นที่จู่ๆก็เข้ามาโคจรในระบบสุริยะของเรา นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อว่า “โอมูอามูอา” (Oumuamua) ซึ่งเบื้องต้นต่างก็คิดว่าโอมูอามูอาเป็นดาวเคราะห์น้อย แต่แล้วก็สังเกตการณ์พบว่ามันเคลื่อนถอยห่างจากดวงอาทิตย์พร้อมกับมีการปล่อยก๊าซปริมาณน้อยๆออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการของดาวหาง นักดาราศาสตร์จึงสรุปว่าโอมูอามูอาเป็นดาวหาง

แต่สิ่งที่นักดาราศาสตร์สงสัยก็คือดาวหางโอมูอามูอาเดินทางมาจากแห่งหนใดในจักรวาลนี้ ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์มักซ์ พลังค์ ประเทศเยอรมนี เผยว่า หลังจากได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมไกย่า (Gaia) ที่องค์การอวกาศยุโรปส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกเพื่อสำรวจดวงดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือก ในที่สุดก็พบดวงดาว 4 ดวงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นบ้านเกิดของดาวหางดังกล่าว โดยน่าจะเริ่มเดินทางไกลจากมาเมื่อกว่า 1 ล้านปีที่แล้ว ดาวทั้ง 4 ดวงถูกระบุว่าเป็นดาวแคระ (dwarf stars) นักดาราศาสตร์แจงว่าดวงแรกเป็นดาวแคระสีออกแดงชื่อ HIP 3757 เคยอยู่ใกล้กับโอมูอามูอาอย่างน้อยประมาณ 1 ล้านปีก่อน ดวงที่ 2 คือ HD 292249 มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ของเรา เคยอยู่ใกล้กับวิถีโคจรของโอมูอามูอาราว 3,800,000 ปีก่อน ส่วนอีก 2 ดวงยังไม่ปรากฏชื่อ แต่พบว่าเคยอยู่ใกล้โอมูอามูอาประมาณ 1,100,000 ปี และ 6,300,000 ปีก่อน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เผยว่า ยังต้องศึกษาสาเหตุที่ทำให้ดาวหางโอมูอามูอาออกมาผจญอวกาศห้วงลึกได้ เช่น ต้องมีดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ที่มีศักยภาพพอที่จะผลักดันให้ดาวหางดวงนี้จากบ้านของตนมา.

Credit : ESO/M. Kornmesser