เปลี่ยนขั้ว-ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด วัย 92 ปี ผู้หวนกลับมาเป็นนายกฯมาเลเซียคนที่ 7 แถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 11 พ.ค. หลังสาบานตนรับตำแหน่ง 1 วัน โดยเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน โมฮัมหมัด ที่ 5 พร้อมพระราชทานอภัยโทษให้นายอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำฝ่ายค้าน (รูปเล็ก) ที่ติดคุกอยู่โดยทันที (เอเอฟพี)

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย เมื่อ 9 พ.ค. “พลิกล็อกฟ้าถล่ม” เมื่อแนวร่วมแห่งชาติ “บาริซาน เนชั่นแนล” (บีเอ็น) ฝ่ายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ซึ่งมีพรรค “องค์กรสหมาเลย์แห่งชาติ” (อัมโน) ที่กุมอำนาจมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2500 เป็นแกนนำ พ่ายแพ้ย่อยยับชนิด “หักปากกาเซียน”

นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพันธมิตรฝ่ายค้าน “ปากาตัน ฮาราปัน” (สัญญาแห่งความหวังหรือพีเอช) ซึ่งเกิดขึ้นจากการผนึกกำลังแบบเฉพาะกิจระหว่าง “อดีตศัตรู” คือ ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด “เสือเฒ่า” วัย 92 ปี อดีตนายกฯ ผู้กุมอำนาจยาวนานที่สุด 22 ปี กับนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน “ความยุติธรรมประชาชน” (พีเจพี) ผู้กำลังรับโทษจำคุกรอบ 2 ในข้อหาร่วมเพศทางทวารหนัก “ตุ๋ย” ผู้ชายด้วยกัน

ชัยชนะของพีเอชเหนือบีเอ็น ด้วยสัดส่วน ส.ส. ทิ้งห่างระหว่าง 113-135 ที่นั่ง ต่อ 79 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ทำให้ ดร.มหาธีร์ซึ่งวางมือจากการเมืองไปถึง 15 ปี ได้เป็นนายกฯอีกครั้งในวัย 92 ปี ทำสถิติเป็นผู้นำประเทศที่มีอายุมากที่สุดในโลก

ทั้งอันวาร์และนาจิบต่างเคยเป็น “ลูกน้อง” ของมหาธีร์ ผู้กุมอำนาจช่วงปี 2524-2546 โดยอันวาร์เคยถูกวางตัวเป็น “ทายาทอำนาจ” ของมหาธีร์ แต่ถูกปลดจาก รมว.คลังและรองนายกฯ ในปี 2541 เพราะขัดแย้งกันเรื่องนโยบายแก้วิกฤติการเงิน “โรคต้มยำกุ้ง” ปี 2540 จากนั้นอันวาร์ก็ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี ในข้อหารักร่วมเพศและคอร์รัปชัน ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นเรื่องการเมือง ถูกมหาธีร์กำจัด

...

หลังพ้นโทษในปี 2547 อันวาร์ก็ตั้งขบวนการ “รีฟอร์เมซี” (ปฏิรูป) และพรรคพีเจพีขึ้น โดยการเลือกตั้งปี 2556 เขานำฝ่ายค้านแย่งที่นั่ง ส.ส.ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้บีเอ็นชนะแต่ได้ ส.ส.แค่ 133 ที่นั่ง มีเสียงข้างมากในสภาไม่ถึง 2 ใน 3 แถมยังแพ้คะแนนเสียงประชาชน (ป๊อปปูลาร์ โหวต) ให้ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก (47% ต่อ 51%)

ปี 2558 อันวาร์ก็ถูกศาลตัดสินจำคุกรอบที่ 2 อีก 5 ปี ในข้อหา “ตุ๋ย” เช่นเดิม ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นเรื่องการเมืองอีกแล้ว เพราะนาจิบเห็นว่าเขาเป็นภัยคุกคามอำนาจ โดยอันวาร์มีกำหนดพ้นโทษใน 8 มิ.ย.นี้

ส่วนมหาธีร์ยังโจมตีนาจิบไม่หยุดว่าคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ ทั้งคู่ถึงจุดแตกหักในปี 2555 หลังมีการแฉคดีคอร์รัปชันในกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติ “วันเอ็มดีบี” (1MDB) ซึ่งนาจิบก่อตั้งขึ้น โดยสหรัฐฯ ระบุว่ามีการยักยอกฟอกเงิน 1MDB ถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ฯ และกว่า 700 ล้านดอลลาร์ฯถูกโอนเข้าบัญชีนาจิบ แต่อัยการสูงสุดกลับเคลียร์ให้ว่าไม่ผิด แม้หลายชาติรวมทั้งสหรัฐฯ สวิตฯ สิงคโปร์ สั่งสอบสวนและอายัดเงิน 1MDB

สาบานตน-สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน โมฮัมหมัด ที่ 5 ทรงมอบสารตราตั้งให้นายกฯ ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง เมื่อ 10 พ.ค. ทำให้มหาธีร์กลายเป็นผู้นำประเทศที่มีอายุมากที่สุดในโลก (เอเอฟพี)
สาบานตน-สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน โมฮัมหมัด ที่ 5 ทรงมอบสารตราตั้งให้นายกฯ ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง เมื่อ 10 พ.ค. ทำให้มหาธีร์กลายเป็นผู้นำประเทศที่มีอายุมากที่สุดในโลก (เอเอฟพี)

มหาธีร์ประกาศตัดขาดกับพรรคอัมโนและตั้งพรรค “เบอร์ซาตู” ขึ้นในเดือน ส.ค.2560 ก่อนไปเจรจารวมพลังกับอันวาร์ และถูกดันให้ขึ้นชิงเก้าอี้นายกฯ เขาประกาศว่า ถ้าชนะเลือกตั้งจะเป็นนายกฯ แค่ 2 ปี และจะขอพระราชทานอภัยโทษ “ปลดล็อก” ให้อันวาร์ซึ่งถูกห้ามรับตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี เข้ามารับช่วงเป็นนายกฯ ต่อความพ่ายแพ้ของบีเอ็นครั้งนี้ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะพิษคดีฉาว 1MDB กับปัญหาค่าครองชีพสูง ซ้ำรัฐบาลยังขึ้นภาษีการบริโภค ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนัก

อีกปัจจัยคือตัวมหาธีร์เอง ซึ่งบารมียังแก่กล้าในฐานะผู้นำที่เคยทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียรุ่งโรจน์ เป็น “เสือตัวที่ 5” แห่งเอเชีย จนสามารถดึงคะแนนเสียงจากทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าชาวมุสลิมมาเลย์ ชนส่วนใหญ่กว่า 60% ของประเทศที่เป็นฐานเสียงหลักของบีเอ็นมาได้มากเกินคาดหมาย แม้ถูกโจมตีว่าเป็น “เผด็จการ” เมื่อผนวกกับฐานเสียงของพรรคพีเจพีของอันวาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและอินเดียชนส่วนน้อย ก็เลยกลายเป็น “2 แรงบวก”

ทีมหาเสียงของมหาธีร์ยังใช้ “โซเชียลมีเดีย” อย่างได้ผลยิ่ง ส่งสารเจาะเข้าถึงเขตชนบททั่วประเทศ รวมทั้งรัฐยะโฮร์ ไปจนถึงรัฐซาบาห์และซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ฐานเสียงสำคัญของบีเอ็น โดยมุ่งโจมตีความเลวร้ายต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการคอร์รัปชัน และชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยของครอบครัวนาจิบ

น่าสังเกตว่า บีเอ็นแพ้เลือกตั้งแม้ยังกุมกลไกรัฐในอุ้งมือ อีกทั้งปีที่แล้วรัฐบาลยังแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง ที่เรียกว่า “Gerrymandering” ทำให้ได้เปรียบฝ่ายค้านมาก ในระบบเลือกตั้งแบบ “First-past-the-post” คือพรรคหรือแนวร่วมพรรคใดที่ได้ ส.ส.ในสภามากที่สุดคือผู้ชนะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นจุดอ่อนของมาเลเซีย เพราะไม่ได้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยแท้จริง

...

การเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งสกปรกและใส่ร้ายป้ายสีกันดุเดือดที่สุด โดยรัฐบาลบีเอ็นถูกกล่าวหาร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พยายามโกงการเลือกตั้ง ทั้งซื้อเสียง สวมสิทธิเลือกตั้ง โดยบัญชีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมีชื่อผู้ไม่มีที่อยู่และคนตายแล้วกว่า 2.1 ล้านคน เท่ากับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงถึง 15% รัฐบาลยังจัดการเลือกตั้งในวันพุธแทนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หวังให้คนหนุ่มสาววัยทำงานออกมาลงคะแนนเสียงน้อย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเอง

เดือนที่แล้ว รัฐสภายังผ่านกฎหมายต่อต้าน “ข่าวปลอม” (Fake news) มีโทษจำคุกถึง 6 ปี ปรับ 5 แสนริงกิต (ราว 4,064,000 บาท) ซึ่งฝ่ายค้านชี้ว่ารัฐบาลหวังใช้ปิดปากสื่อและฝ่ายค้าน ซึ่งมหาธีร์ก็ถูกสอบสวนในข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอม หลังเผยว่าเครื่องบินนำตนไปสมัครรับเลือกตั้งที่เกาะลังกาวีถูกก่อวินาศกรรม

แม้เล่นสกปรกทุกวิถีทาง...แต่สุดท้ายก็ “เอาไม่อยู่” เพราะประชาชนผู้เป็น “เสียงสวรรค์” ที่แท้จริง ทนความเลวร้ายของขั้วอำนาจเก่าไม่ไหว และต้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งของมหาธีร์และอันวาร์ ส่วนนาจิบมีหวังถูก “เช็กบิล” ในคดี 1MDB จนอ่วมแน่!

บวร โทศรีแก้ว