โผงผาง...ไม่แคร์ใคร...เข้ากับคนอื่นยาก...ตระหนี่ขี้เหนียว...ประหยัดมัธยัสถ์ และจู้จี้ ทั้งหมดนี้คือนิสัยสู่ความสำเร็จของ “อิงวาร์ คัมพราด” มหาเศรษฐีสวีดิช ลูกชาวไร่ผู้ก่อตั้งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อันดับหนึ่งของโลก “อิเกีย” ซึ่งเพิ่งล่วงลับไปด้วยวัย 91 ปี
สำหรับคนทั่วไป นิสัยแบบนี้ไม่น่าคบสักเท่าไหร่ เพราะทั้งดุทั้งเขี้ยวลากดิน แต่ด้วยบุคลิกภาพแข็งกร้าวเช่นนี้ ได้หล่อหลอมให้เขาเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นที่ปราศจากความกลัวใดๆ จนสามารถปฏิวัติวงการเฟอร์นิเจอร์โลกให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง
สมัยก่อนมีแต่คนมีสตางค์เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้เป็นเจ้าของเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีราคาแพง แต่ “คัมพราด” ปฏิวัติตลาดเฟอร์นิเจอร์ครั้งใหญ่ ด้วยการคิดค้นบริการใหม่ให้ผู้ซื้อสามารถนำเฟอร์นิเจอร์กลับไปประกอบเองที่บ้าน ทำให้ราคาเฟอร์นิเจอร์ของอิเกียถูกกว่าคู่แข่งมาก เพราะลดต้นทุนได้มหาศาล จึงถือเป็นครั้งแรกของโลกที่คนหาเช้ากินค่ำสามารถเข้าถึงเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีในราคาสบายกระเป๋า
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก “คัมพราด” มีหัวเซ็งลี้ชอบค้าขายตั้งแต่เล็กแต่น้อย อายุ 5 ขวบ เขาหาค่าขนมจากการขายไม้ขีดไฟ พออายุ 10 ขวบ ก็ขี่จักรยานเร่ขายดินสอ, ปากกา, ปลา, เมล็ดพันธุ์พืช และของตกแต่งต้นคริสต์มาส เขามีปมด้อยตั้งแต่เด็กเป็นโรคดิสเล็กเซีย มีปัญหาอ่านเขียนสะกดคำติดขัด ทำให้ไม่มีโอกาสเรียนสูงเท่าไหร่ แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยพรสวรรค์การทำธุรกิจ ตอนอายุ 17 ปี พ่อให้รางวัลที่สอบได้เกรดดี เขาตัดสินใจเอาเงินทั้งก้อนรวมกับเงินเก็บค่าขนม ไปลงทุนเปิดธุรกิจ “อิเกีย” โดยช่วงแรกเน้นขายของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กๆกระจุกกระจิก เช่น กรอบรูป และนาฬิกาแขวน ผ่านระบบเมลออเดอร์
...
กระทั่งอีก 5 ปีต่อมา จึงหันมาขายเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกเป็นเรื่องเป็นราว ปรากฏว่าขายดิบขายดีมาก เขาจึงตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เต็มตัว โดยเรียกเสียงฮือฮาด้วยการเปิดโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์เป็นครั้งแรกในสวีเดน ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1950 การเปิดโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ถือเป็นของแปลกใหม่ไม่มีใครทำ สมัยนั้นนิยมขายเฟอร์นิเจอร์ผ่านเมลออเดอร์ หรือแค็ตตาล็อกสินค้า ผลจากการเปิดโชว์รูมทำให้ลูกค้าหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ เพราะตื่นเต้นที่ได้ลองได้สัมผัสของจริงก่อนซื้อ แถม “อิเกีย” ยังมีกลยุทธ์เด็ด ให้ลูกค้าสามารถซื้อแล้วยกขึ้นรถหิ้วกลับบ้านไปประกอบเองได้ทันที นี่คือการปฏิวัติตลาดเครื่องเรือนอย่างแท้จริง
ตำนานความสำเร็จของ “อิเกีย” เริ่มต้นตั้งแต่จุดนั้น กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นผู้นำเฟอร์นิเจอร์อันดับหนึ่งของโลก ที่มีรายได้มากกว่าปีละ 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสาขาอยู่ 411 สาขา ใน 49 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานเกือบ 200,000 คน ส่งผลให้ “คัมพราด” ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก ด้วยสินทรัพย์ในครอบครองมากกว่า 58,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระนั้น เขาเพิ่งวางมือให้ลูกๆเข้ามารับช่วงสานต่อธุรกิจ ตอนอายุ 87 ปี ทั้งๆที่ประกาศไว้ว่า ชีวิตนี้ไม่มีวันเกษียณ เพราะยุ่งเกินกว่าจะวางมือจากธุรกิจได้
ถึงจะรวยเป็นเศรษฐีหลายหมื่นล้าน แต่ “คัมพราด” ก็เหมือนเศรษฐียุคเสื่อผืนหมอนใบจำนวนมาก ที่ใช้ชีวิตประหยัดมัธยัสถ์ไม่เคยเปลี่ยน เขาขับรถวอลโว่คันเก่ามาเป็นสิบๆปี ยังชอบนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงาน เวลาเดินทางจะบินชั้นประหยัด และพักโรงแรมถูกๆเท่านั้น ชีวิตของเขามีแต่การรีไซเคิล ไม่เว้นแม้แต่ถุงชาจะชงซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นที่รู้กัน เขายังชอบเก็บซองพริกไทยและเกลือจากร้านอาหารมาใช้ที่บ้าน ในทัศนะของผู้ก่อตั้งอิเกียเชื่อว่า คนเราจะประสบความสำเร็จได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งข้าวของเครื่องใช้ หรือนาฬิกาแพงๆ แต่ต้องเกิดจากความมุ่งมั่น ขยันและอดทน การใช้จ่ายข้าวของแพงๆมีชีวิตสุรุ่ยสุร่ายยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับพนักงานอิเกีย ซึ่งตรงนี้เขาจะยอมไม่ได้เด็ดขาด เพราะขัดต่อวัฒนธรรมขององค์กรที่เน้นความพอเพียงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.
มิสแซฟไฟร์