การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพิ่งแถลงเปิดตัวโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 15 ประจำปี 2568 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รางวัลกินรี” ในปีนี้ได้ก้าวสู่ 3 ทศวรรษ หรือปีที่ 30 ของการมอบรางวัลแห่งเกียรติยศ “รางวัลกินรี” จะจัดการประกวดขึ้นทุกๆ 2 ปี ในปีนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิด Sustainability in Process เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ดังนั้น ความพิเศษในปีนี้ คือการเพิ่มรางวัลแห่งความยั่งยืน (Thailand Tourism Sustainability Awards) เป็นครั้งแรก เพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความยอดเยี่ยมในด้านการบริหารจัดการความยั่งยืน
น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ททท.ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศให้สมัครเข้าร่วมการประกวดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30 เม.ย.2568 ผ่านทางเว็บไซต์ https://tourismawards.tourismtha จะนำไปสู่การเฟ้นหาสุดยอด 100 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานการบริการที่ยอดเยี่ยม โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยว 2.ที่พักนักท่องเที่ยว 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.รายการนำเที่ยว 5.องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยแบ่งระดับรางวัลออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ รางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Excellence Awards) รางวัลดีเด่น (Thailand Tourism Outstanding Awards) รางวัลเกียรติยศ (Hall of Fame) สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน และรางวัลแห่งความยั่งยืน (Thailand Tourism Sustainability Awards) ซึ่งเป็นรางวัลที่ถูกเพิ่มเข้ามาในปีนี้เป็นปีแรก
ย้อนไปสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุม ครม.สัญจร ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ททท.ได้นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือเรียกกันว่า “พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ.” เลือกให้ไปดูที่นี่เพราะเป็นตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวได้รับการันตีจาก “รางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Award ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้” จากการประกวดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566 ซึ่งพอได้ดูก็ควรค่ากับการได้รับรางวัลจริงๆ
จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์นี้ ได้รวมนิทรรศการถูกสร้างสรรค์ด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัย ที่นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯได้ลงมือทำจริงในพื้นที่จริง เพื่อถ่ายทอดผ่านนิทรรศการให้กับผู้เข้าชมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นแหล่งฝึกอบรมด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต สำหรับนักศึกษาและนักวิจัยทั่วโลก
มีการถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการให้บริการความรู้นอกห้องเรียนด้วยนิทรรศการและกิจกรรมทางด้านธรรมชาติศึกษาและวิทยาศาสตร์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็ก นักเรียน และประชาชนทั่วไป รู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น จุดประกายให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป
จุดสำคัญที่ได้ไปพบใน “พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ.” เด็กหัวกะทิ 2 คน คนแรก “จณิสตา ลิ้มเพียรจัด” หรือ น้องอุ้ม นักเรียนชั้นมัธยม 5 อายุ 18 ปี สามารถอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับธรณีวิทยา ชั้นหิน การสกัดฟอสซิลชนิดต่างๆให้พวกพี่ๆสื่อมวลชนฟังแบบย้อนหลังไปหลายร้อยล้านปีแบบคล่องแคล่ว จุดเริ่มต้นของน้องอุ้มมาจากการมาเยี่ยมชมและฟังการบรรยายที่ “พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ.” จากความหลงใหลจนค้นพบความชอบของตัวเอง มาฝังตัวเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์นี้ ล่าสุดสอบชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อที่อเมริกา และวาดอนาคตไว้ในฐานะนักธรณีวิทยา
อีกคน “คฑากริช ไชยสุวรรณ” หรือ น้องบอส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุกวันนี้เป็นผู้ช่วยวิจัยบรรพชีวินอยู่ใน “พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ.” วางอนาคตเป็นอาจารย์เพื่อถ่ายทอดวิชาให้น้องรุ่นหลังต่อไป
“พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ.” จึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์สร้างคน สร้างอนาคตให้กับเด็กไทยอย่างแท้จริง นี่คือตัวอย่างหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล “กินรี”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่