85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

Date Time: 13 ก.ย. 2567 20:37 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • Fast Fashion กับประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นสายของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายสายของเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งสู่กองขยะ ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเจ้าดังระดับโลกหันมาปรับบริการ เพิ่มคุณค่าให้สินค้าใช้แล้วตามแนวคิด “Circular Fashion” หรือ “แฟชั่นหมุนเวียน” ออกแบบบริการรับซื้อ-ขาย-ปรับปรุงสินค้ามือสอง เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลและใช้ซ้ำให้มากที่สุด หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

Latest


ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจ Fast Fashion หรือสินค้าแฟชั่นตามกระแสที่มาไวไปไว กลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมาอย่างยาวนาน จากรายงานของ Earth.Org พบว่า ในกระบวนการผลิตสินค้ากลุ่มนี้จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด หรือเท่ากับการปล่อยก๊าซของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตสินค้า Fast Fashion ยังส่งผลกระทบต่อระบบน้ำ เนื่องจากต้องใช้น้ำปริมาณมาก และยังมีการปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำและทะเล ซึ่งพบว่าในแต่ละปีไมโครพลาสติกกว่า 500,000 ตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งปริมาณนี้เทียบเท่ากับขวดพลาสติกกว่า 50,000 ล้านใบเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ในแต่ละปีสินค้าแฟชั่นทั้งที่ขายออกไปแล้วและที่ขายไม่ได้เนื่องจากคุณภาพไม่ผ่านการตรวจสอบ คิดเป็นประมาณ 85% ของสิ่งทอทั้งหมด ถูกทิ้งลงในกองขยะ สร้างมลพิษต่อดินอีก

ปัญหานี้ส่งผลให้แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นต้องเร่งปรับตัว ปั้นภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ให้ใส่ใจต่อความยั่งยืนมากขึ้น จนเกิดเป็นแนวคิด “Circular Fashion” หรือ “แฟชั่นหมุนเวียน” เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำ มีการนำมารีไซเคิล และลดขยะที่เกิดจากสินค้าแฟชั่น

แบรนด์ดังเปิดบริการรับ-ขาย-รีไซเคิลสินค้ามือสอง

จากข้อมูลของ Statista ชี้ว่า ปี 2024 มูลค่าของตลาดเสื้อผ้ามือสองจะอยู่ที่ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายในปี 2028 มูลค่าจะโตไปที่ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดสินค้ามือสองที่เติบโตขึ้นมีผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จนแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นหลายรายหันมาเปิดบริการซื้อ-ขายสินค้ามือสอง ที่จะให้ลูกค้าสามารถส่งต่อสินค้าของแบรนด์นั้น ๆ ต่อให้ลูกค้าคนอื่นที่ต้องการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น

  • Zara ภายใต้การบริหารของ Inditex ได้เปิดตัวบริการ “Zara Pre-Owned” เมื่อปี 2022 ในหลายประเทศของยุโรป เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะเปิดให้ลูกค้าเข้ามาขาย ส่งต่อ หรือบริจาคสินค้ามือสองของแบรนด์ให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ พร้อมกับเปิดฟีเจอร์ให้ส่งสินค้าซ่อมได้อีกด้วย เพื่อเพิ่มระยะเวลาการใช้งานให้กับสินค้าของแบรนด์ตัวเอง โดยล่าสุด Zara เตรียมจะเปิดบริการในสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมนี้

  • H&M อีกหนึ่งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นรายใหญ่ ที่ได้เปิดบริการ “H&M Rewear” ในปี 2021 โดยจะเปิดให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วแบรนด์ใดก็ได้มาบริจาคในกล่องที่สาขา และเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ลูกค้ามาซื้อขายสินค้ามือสองได้ โดยเริ่มต้นเปิดให้ใช้งานในแคนาดา

  • Levi’s แบรนด์ยีนส์ชื่อดัง ที่ได้เปิดโครงการ “Levi’s SecondHand” เมื่อปี 2020 ที่ให้ลูกค้าเข้ามาแลกยีนส์เก่ากับเครดิต และ Levi’s จะนำมาขายต่อบนเว็บไซต์ SecondHand.levi.com

  • Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นจากญี่ปุ่น ที่ได้เปิดตัวโปรเจกต์ “Re.Uniqlo” ไปเมื่อปี 2020 โดยจะเปิดให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าของแบรนด์มาบริจาค โดยส่วนหนึ่ง Uniqlo จะนำไปบริจาคต่อ ส่วนเสื้อผ้าที่ใช้งานไม่ได้จะถูกนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าชิ้นใหม่ และนำออกมาขายเป็นคอลเลคชันใหม่ต่อไป

จะเห็นว่าแบรนด์สินค้า Fast Fashion ต่างกำลังพยายามที่จะปรับภาพตัวเองจากคำวิจารณ์และผลกระทบที่ส่งผลอย่างหนักต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการส่งต่อเสื้อผ้ามือสองให้กับผู้อื่น ด้านลูกค้ายังมองว่ามีข้อดีอีกว่า สินค้ามือสองเป็นสินค้าราคาย่อมเยาว์ เข้าถึงได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีอีกด้วย

ที่มา: Reuters, Earth.org, H&M, Levi’s, StatistaUniqlo

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ