บาทแข็งค่าในรอบ 40 เดือน “ทหารไทย” ฟันธงเศรษฐกิจปีจอโต 4.2%

Personal Finance

Financial Planning

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บาทแข็งค่าในรอบ 40 เดือน “ทหารไทย” ฟันธงเศรษฐกิจปีจอโต 4.2%

Date Time: 9 ม.ค. 2561 09:31 น.

Summary

  • บาทแข็งค่า 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในรอบ 40 เดือน “ไทยพาณิชย์-ทหารไทย” ฟันธงได้เห็นที่ระดับ 32 บาท จับตาผลกระทบที่จะเกิดกับสินค้าส่งออกภาคเกษตรกรรม

Latest

การเงินดี ชีวิตดี "ความรวย" ที่ไม่ได้วัดด้วยมูลค่า เมื่อ 58% ของคน Gen Z  หยุดไล่ล่าความมั่งคั่ง

บาทแข็งค่า 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในรอบ 40 เดือน “ไทยพาณิชย์-ทหารไทย” ฟันธงได้เห็นที่ระดับ 32 บาท จับตาผลกระทบที่จะเกิดกับสินค้าส่งออกภาคเกษตรกรรม หลังเวียดนาม-จีนค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียง 5% ขณะที่ค่าบาทแข็งค่า 10% แต่ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.2% เหตุส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุนเอกชนมาเกื้อหนุน

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นในรอบ 40 เดือน นับจากเดือน ก.ย.2557 เป็นการแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปิดตลาด 32.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯและสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.23 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าครั้งนี้ เป็นเพราะเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว และอาจส่งผลให้ผู้ส่งออกเร่งเทขายเงินดอลลาร์ออกมา

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ภาคเอกชนได้มีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว เชื่อว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งที่น่ากังวลคือ อาจกระทบต่อการกำหนดราคาส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว เนื่องจากคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ที่ส่งออกสินค้าเหมือนกับไทย และหากเทียบเงินบาทกับเงินดองเวียดนาม พบว่าเงินบาทแข็งค่า 10% หากเทียบกับเงินหยวนของจีน ค่าเงินบาทแข็งค่า 5% ทำให้ความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรของไทยลดลง

“เงินบาทที่แข็งค่าไม่กระทบต่อตัวเลขการส่งออกปีนี้ ที่คาดว่าขยายตัว 5% จากปีก่อนที่ขยายตัว 10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวดี และมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ 4%”

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนที่ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว คือแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าขยายตัว 7.9% เป็นการขยายตัวเต็มศักยภาพที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย 38 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มดีขึ้นเพียงบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้มีรายได้สูง และกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรก ที่ทยอยหมดภาระการผ่อนที่จะช่วยให้สินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางยังขยายตัวได้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 3% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.5% ตามเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 1.50% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

“ปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาสินค้าเกษตรทรงตัว อยู่ในระดับต่ำที่ส่งผลกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ และส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน และความไม่แน่นอนทางการเมือง”

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน 1-2 เดือนนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และไตรมาส 2 -3 ที่มีการเลือกตั้งในยุโรป ทำให้มีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ้นปีคาดว่าอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัว 4.2% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.8% เพราะได้รับแรงส่งของทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และคาดว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง สินเชื่อและเงินฝากเติบโตดี ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มการก่อตัวของเอ็นพีแอลใหม่จะลดลงในปีนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ