สรุปจบที่เดียว “ขายของออนไลน์” ต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง? ยอดรายได้ เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี มีจ่ายเพิ่ม

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปจบที่เดียว “ขายของออนไลน์” ต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง? ยอดรายได้ เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี มีจ่ายเพิ่ม

Date Time: 14 เม.ย. 2567 08:00 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • สรุปรายละเอียด ขายของออนไลน์ ต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง? และเอกสารและข้อมูลที่ต้องใช้ในการยื่นภาษีรอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และเต็มปี สำหรับ พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ มือใหม่ เตือน ยอดรายได้ เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี อย่าลืมจดทะเบียน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ด้วย

หมดฤดูกาล ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเภท ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ไปเรียบร้อยแล้ว ถัดมา ก็จะเป็นรอบของ “ภาษีรอบครึ่งปี” หรือ ภ.ง.ด.94 ซึ่งไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) หากมีรายได้เข้ามาก็ต้องมีการเสียภาษีทั้งหมด 

โดยการยื่นภาษีกลางปี จะคำนวณจากการสรุปรายได้ทั้งหมดตั้งแต่เดือน 1 มกราคม–30 มิถุนายน โดยหากมีรายได้เกิน 60,000 บาท (สำหรับคนโสด) หรือมากกว่า 120,000 บาท (สำหรับผู้ที่สมรส) จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ทั้งสิ้น ซึ่งไม่รวมรายได้จากงานประจำ

ซึ่งตามข้อมูลแนะนำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามกฎหมาย และการยื่นภาษีรอบครึ่งปี หรือ การชำระภาษีแบบ ภ.ง.ด.94 จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายได้คำนวณรายได้ของร้านตัวเองอย่างคร่าวๆ และสามารถแบ่งจ่ายเฉพาะเงินได้จากการขายของออนไลน์ได้ก่อนตอนกลางปี ก่อนที่รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกันตอนปลายปี ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสียภาษีแพงกว่า

เช่นเดียวกับ คนที่ทำงานประจำด้วย ขายของออนไลน์ด้วย ก็ต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด.94 เพราะหากพ่อค้าแม่ค้าไม่ยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด.94 รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกับภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และต้องจ่ายภาษีหนักในครั้งเดียว

สรุปขายของออนไลน์ ต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง?แบบเข้าใจง่าย 

ขณะข้อมูลจาก บมจ.ธรรมนิติ อธิบายอย่างเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่อง ภาษีสำหรับการขายของออนไลน์  ว่า ภาษีดังกล่าว ถือ เป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย หรือเงินได้ประเภทที่ 8 ต้องยื่นภาษีประจำปี และ ภาษีครึ่งปี (ปีละ 2 ครั้ง) 

ส่วนการหักค่าใช้จ่าย มี 2 แบบ คือ 

  • หักแบบเหมา 60% 
  • หักตามจริง (ต้องแจกแจงค่าใช้จ่าย)


ประเภทของภาษีที่ต้องจ่าย 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : บุคคลธรรมดา 

  • ยื่น ภ.ง.ด.94 ช่วงกลางปี และ 
  • ยื่น ภ.ง.ด.90 ช่วงปลายปี 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล : ร้านค้า

  • ยื่น ภ.ง.ด.51 ช่วงกลางปี และ 
  • ยื่น ภ.ง.ด.50 สำหรับช่วงสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

สำหรับผู้ประกอบการ หรือร้านค้า ที่จำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย คือ กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยวิธีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ง่ายๆ ดังนี้ 

  • ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 
  • ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกินเกณฑ์ 

เช็กลิสต์เอกสารและข้อมูลที่ต้องใช้ในการยื่นภาษี สำหรับ คนขายของออนไลน์ 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.94 /แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 
  • เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง ตามมาตรา 50 ทวิ 
  • เอกสารแสดงรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่างๆ เช่น 
  1. ใบทะเบียนสมรส/ใบสูติบัตรบุตร
  2. ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต /ประกันสุขภาพ
  3. ใบเสร็จรับรองการซื้อกองทุน RMF /SSF /SSFX
  4. หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร 
  5. หลักฐานการบริจาค 
  • เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น 
  1. บัญชีรายรับ-รายจ่าย
  2. ใบเสร็จรับเงินค่าวัตถุดิบหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่าย 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล 

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 51 /แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.50
  • เอกสารงบการเงิน เช่น 
  1. งบกำไรขาดทุน 
  2. งบแสดงฐานะการเงิน 
  3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
  4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน 
  5. รายงานผู้สอบบัญชีอนุญาต 

ยื่นภาษีช่องทางไหนได้บ้าง

สำหรับช่องทางการ “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” มี 2 ทางเลือก

  • เตรียมเอกสารแบบกระดาษ เดินทางไปยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร ในเวลาราชการ
  • การยื่นภาษีในช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) สำหรับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 90/91/94 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ

การยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์นอกจากจะสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีช้าออกไปกว่าการยื่นแบบกระดาษอีกด้วย ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรประกาศในแต่ละปี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์