สงครามการค้าเดือด เตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก

Experts pool

Columnist

Tag

สงครามการค้าเดือด เตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก

Date Time: 19 เม.ย. 2568 09:21 น.

Video

ไม่กลัวเศรษฐกิจโลกล่มสลาย เพราะมี Bitcoin ผู้เขียน The Bitcoin Standard | Thairatrh Money Talk EP.22

Summary

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตเพียง 1.4% ในปี 2568 เนื่องจากผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ ภาคส่งออกคาดว่าจะหดตัวประมาณ 3% โดยในไตรมาส 4 อาจหดตัวถึงระดับสองหลัก แม้ว่ารัฐบาลไทยกำลังเตรียมบินไปเจรจากับสหรัฐในวันที่ 19-25 เม.ย. นี้ แต่คาดว่าข้อสรุปอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน

Latest


สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

นับจากต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นทั่วโลกสหรัฐปรับตัวลดลง โดยดัชนี S&P 500 ลดลง 8.2% ญี่ปุ่น 14.1% อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน หดตัวระดับ 9-13% ส่วนตลาดไทยหดตัวถึงกว่า 19.4% ขณะที่ทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก ผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น หลังจากที่ทรัมป์ประกาศภาษี Reciprocal tariff กับทั่วโลกเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการชะลอการเก็บชั่วคราว 90 วัน (ยกเว้นจีน) และยังคงเก็บภาษีพื้นฐาน 10% กับประเทศส่วนใหญ่ก็ตาม

ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้จีนติดต่อเพื่อเริ่มการเจรจาแก้ไขปัญหาการค้า หลังจากที่จีนสั่งให้สายการบินของตนงดรับมอบเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มเติม นอกจากนี้ จีนยังประกาศเก็บภาษีสินค้าสหรัฐในอัตรา 125% ตอบโต้การที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงถึง 145%

ความขัดแย้งทางการค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น ล่าสุดทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งให้เริ่มการสอบสวนเพื่อพิจารณาการเก็บภาษีแร่ธาตุสำคัญ (Critical Minerals) ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดในสงครามการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น

คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมแร่ธาตุหลายชนิด รวมถึงแร่หายากที่รัฐบาลสหรัฐถือว่าเป็น "รากฐานของฐานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" และสำคัญต่อการสร้างเครื่องยนต์เจ็ท ระบบนำวิถีขีปนาวุธ คอมพิวเตอร์ขั้นสูง รวมถึงอุปกรณ์เรดาร์ ทัศนศาสตร์ และการสื่อสาร

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางประเภท (สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยสินค้าเหล่านี้อาจเผชิญกับภาษีแยกต่างหากในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ทรัมป์จะลดทอนภาษีลงชั่วคราว แต่เราคาดว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจะเพิ่มขึ้น โดยในประมาณการพื้นฐานของเรา มองว่า สหรัฐอาจเผชิญภาวะ Stagflation โดยเศรษฐกิจชะลอลงแต่เงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารกลาง (Fed) ลดดอกเบี้ยได้ยากขึ้น โดยจะขยายตัวได้เพียง 0.9% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ก็จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนของเศรษฐกิจจีน แม้จะแสดงความแข็งแกร่งในไตรมาสแรก แต่เราคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป เนื่องจากผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ โดยข้อมูลการขนส่งสินค้าล่าสุดแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือจีน

ทั้งนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปี 2568 ลงเหลือประมาณ 3.6% หรือต่ำกว่า โดยมองว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย การกู้ยืมและใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มเติม และการสนับสนุนผู้ส่งออกโดยเฉพาะ

ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตามการประเมินล่าสุด INVX มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตเพียง 1.4% ในปี 2568 ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ 2.5% เนื่องจากผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ ภาคส่งออกคาดว่าจะหดตัวประมาณ 3% โดยในไตรมาส 4 อาจหดตัวถึงระดับสองหลัก ขณะที่แม้ว่ารัฐบาลไทยกำลังเตรียมบินไปเจรจากับสหรัฐในวันที่ 19-25 เม.ย. นี้ แต่คาดว่าข้อสรุปอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรับมือกับมาตรการภาษีเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การชะลอมาตรการภาษีออกไป 90 วัน ซึ่งให้ผลบวกหลายประการ เช่น บรรเทาความตึงเครียดชั่วคราว ป้องกันสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เปิดช่องทางสำหรับการเจรจา และให้เวลาสำหรับการปรับตัว แต่ความไม่แน่นอนและผลกระทบด้านลบยังคงอยู่

ในส่วนของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เรามองว่า โอกาสการเติบโต 3% ของไทยยังเป็นไปได้ แม้จะยากมากก็ตาม หากรัฐบาลมีการดำเนินนโยบายเร่งด่วนใน 3 ด้านหลัก: (1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่: การลงทุน 4 ล้านล้านบาทใน 5 ปี จะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 1.5-2.0% ต่อปี (2) การขยายตลาดส่งออกไปยังพันธมิตรใหม่: การเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และ (3) การเจรจาลดทอนภาษีกับสหรัฐ: หากสามารถลดภาษีจาก 36% เหลือ 15% จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกได้บางส่วน นอกจากนั้น รัฐบาลยังควรที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคส่งออก ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

สงครามการค้ายังส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลก โดยทั้ง IEA และโอเปกได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ลง IEA คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นเพียง 730,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงอย่างมากจากคาดการณ์เดิมที่ 1.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนโอเปกปรับลดลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สำหรับกลยุทธ์ตลาดหุ้นไทย เรามองว่า SET ยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดยในระยะสั้นอาจเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1000-1200 จุด โดยเราแนะนำกลยุทธ์ "Selective Buy" ใน 3 ธีม: (1) หุ้นที่คาดเป็นเป้าหมาย ThaiESGX: หุ้น SET50 ที่น่าสนใจ ได้แก่ ADVANC BBL BDMS CPALL PTT และหุ้น SET100 ได้แก่ BCH BTG (2) หุ้น Undervalued: แนะนำ MTC MINT BJC CPF และ (3) Trading Idea: สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูง แนะนำหุ้นที่มีรายได้ภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ BCH CPALL CPAXT GULF MTC OR และ TRUE

ขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการส่งออกไปสหรัฐ (อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยาง สินค้าเกษตร เครื่องประดับ) และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม (นิคมอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ธนาคาร)

ในภาวะที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ขอให้นักลงทุนโชคดี

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX