20.3 ล้านครัวเรือนของคนไทย นี่คือตัวเลขผู้ใช้ไฟฟ้าที่โชคดี ที่จะได้รับการเยียวยาจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ไสช้างศึกชนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แม้ว่าจะสั่งให้มีการยกเลิกแถลงข่าวกะทันหันรวม 2 ครั้ง จากกรณีที่กกพ.จะแถลงข่าวการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการปรับขึ้นค่าเอฟทีได้แต่อย่างใด
ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้ ในบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะได้รับแจ้งคือ ค่าเอฟที ต้องปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย จากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่จัดเก็บอยู่ที่ 24.77 สต. ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สต.ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน เท่ากับว่าคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 4.72 บาทต่อหน่วย จากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่จ่ายค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าฐานรวมกันเพียง 4 บาทต่อหน่วย
กรณีดังกล่าว จึงเป็นเผือกร้อนที่ถูกโยนจาก กกพ.กลับไปใส่มือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ที่จะต้องไปหาเงิน 7,000-9,500 ล้านบาท เพื่อมาให้ กกพ.นำไปจัดสรรเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางดังตัวเลขข้างต้น ประกอบด้วย 1.การช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าเอฟทีเหมือนกับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. คือหากผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ค่าเอฟทีจะไม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 93.43 สต.ต่อหน่วย ตามที่ กกพ.ประกาศ แต่จะมีการเรียกเก็บค่าเอฟทีของผู้ใช้ในกลุ่มนี้ 1.39 สต.ต่อหน่วย ซึ่งเท่ากับค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา
2.การขยายความช่วยเหลือ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในหน่วยที่ 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการกำหนดเพดานจัดเก็บค่าเอฟทีแบบขั้นบันได ซึ่งจะได้ข้อสรุปในอัตราใด จากอัตรา 93.43 สต.ต่อหน่วย ประเด็นนี้ กกพ.ชี้เป้าว่าต้องรอดูฝีมือของกระทรวงการคลังว่า จะจัดสรรงบประมาณมาให้จำนวนเท่าใดก่อน จึงจะนำมาคำนวณสัดส่วนแบบขั้นบันไดได้
ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 500 หน่วยต่อเดือน ก็จะต้องยอมทำใจรับสภาพกลืนเลือดจ่ายค่าไฟฟ้าแพง โดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เพราะจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าว
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงต้องมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีที่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ที่ถือว่าเป็นราคาที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ก็เพราะว่า กกพ.ต้องบริหารจัดการเพื่อนำเงินดังกล่าวไปทยอยชำระคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ล่าสุดแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนไปแล้วรวม 110,000 ล้านบาท
ภาระดังกล่าวมาจากราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) น้ำมันดีเซล และอื่นๆ มีราคาแพงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงอัตราดอกเบี้ยต้องนำไปทยอยชำระสถาบันการเงินที่ กฟผ.กู้มาเสริมสภาพคล่องในการลงทุน ทั้งการซ่อมแซมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า, การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ การซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน, การก่อสร้างและซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า ที่ต้องมีการดำเนินการในทุกๆ ปี
ล่าสุด กฟผ.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กู้เงินมาเสริมสภาพคล่องไปแล้ว 25,000 ล้านบาท ซึ่งก็คงไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงนับจากนี้ไป
นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ทำหนังสือด่วนชี้แจง กกพ.ว่า ไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้อีกแล้ว เพราะค่าเอฟทีและกำไรของ กฟผ.ถูกกำกับดูแลโดย กกพ.ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการ และกำไรในแต่ละปียังถูกนำส่งเข้าไปเป็นรายได้แผ่นดินปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่หาก กกพ.มีมาตรการเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง กฟผ.ก็พร้อมปฏิบัติตาม แม้ว่าวงเงินกู้ล่าสุด เมื่อรวมกับวงเงินกู้ก่อนหน้านี้ ใกล้จะเต็มเพดานที่จะสามารถกู้ได้แล้ว
ดังนั้น หากปล่อยให้ภาระหนี้สิน กฟผ.สะสมเป็นดินพอกหางหมูแม้ว่าจะได้รับการค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาลเพิ่มเติมจากนี้ไป แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ทำกิจการด้านพลังงาน จะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงิน เพราะในข้อเท็จจริงการกู้เงิน ก็ต้องมีการทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ให้ครบถ้วนและต่อเนื่อง เพื่อให้ถูกจัดชั้นเป็นลูกหนี้เกรดเอ หากฐานะการเงินของ กฟผ.สั่นคลอน ก็เหมือนเดินอยู่บนเส้นด้ายในสายตาของผู้ปล่อยกู้ที่เป็นเรื่องที่ไม่ดีนักในระยะยาว
กรณีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องมีญาณทิพย์ ก็พอจะเห็นเค้าลางความโหดร้ายของค่าเอฟทีในปี 2566 ได้ว่า จะต้องปรับขึ้นมากกว่าปีนี้ตลอดทั้งปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากราคาแอลเอ็นจีที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ทั่วโลก โดยไทยต้องนำเข้าในปีหน้า 1.8 ล้านตัน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า 40% ของเชื้อเพลิงรวมจากปีนี้นำเข้าเพียง 700,000 ตัน ตามด้วยก๊าซธรรมชาติเพราะปริมาณการจัดหาในอ่าวไทยคงไม่เพียงพอ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในเมียนมาก็มีความไม่แน่นอนจากหลายๆปัจจัย ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลที่ยังมีราคาผันผวน และยังต้องดูแนวโน้มค่าเงินบาทในขณะนั้นๆที่จะมีการคำนวณค่าเอฟทีในแต่ละงวด เป็นต้น
ท้ายที่สุด ชาวบ้านอย่างเราๆก็ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ หาเงินมาจ่ายภาระค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆวัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร