อาการปวดกระดูก ร้าวไปถึงสันหลัง หรือ แม้แต่ปวดกระดูกสะโพก กะโหลกศีรษะ หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด มัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) หรือที่เรียกสั้นๆว่า MM
มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิลมัยอิโลมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากพลาสมาเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งกลายเป็นมะเร็ง และเพิ่มจำนวนมากผิดปกติสะสมที่ไขกระดูก จนส่งผลต่อการผลิตแอนติบอดีและเซลล์เม็ดเลือดที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ระบบประสาท เลือด และการทำงานของไต เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ มักพบในเพศชาย และคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิลมัยอิโลมา ในระยะแรกอาจไม่พบอาการใดๆ แต่เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยมักปรากฏอาการ ในระบบต่างๆของร่างกาย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและระบบประสาท เช่น ปวดกระดูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก รวมถึงกะโหลกศีรษะ นอกจากนี้ กระดูกอาจแตกหักได้ง่าย และกระดูกสันหลังที่ไม่แข็งแรงอาจไปกดทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดหลังเฉียบพลัน รวมทั้งอาจรู้สึกชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะบริเวณขา
...
ปัญหาเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง ทำให้เกิดอาการ เช่น ภาวะโลหิตจาง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และผิวซีด หากปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวลดต่ำลงจะทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆได้อย่างเต็มที่ และทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยลงและใช้เวลาในการรักษานานกว่าปกติ ส่วนเกล็ดเลือดที่ลดต่ำลงจะทำให้เกิดแผลฟกช้ำและมีเลือดออกได้ง่าย
ปัญหาเกี่ยวกับระดับแคลเซียมในเลือด เมื่อมีแคลเซียมในเลือดสูงจะรู้สึกกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย มีภาวะขาดน้ำ อีกทั้งอาจมีอาการท้องผูกอย่างรุนแรง ไตมีปัญหาจนอาจมีภาวะไตวาย ปวดท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงซึม แต่หากระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้ ปัญหาเกี่ยวกับความเข้มข้นของเลือด หากมีปริมาณโปรตีนผิดปกติหรือมีมัยอิโลมาโปรตีนมากจะทำให้เลือดข้นขึ้นจนเลือดอาจไปเลี้ยงสมองช้าลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน และพบอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกและพูดไม่ชัด ปัญหาเกี่ยวกับไต เมื่อไตทำงานได้ไม่เต็มที่อาจทำให้ไตไม่สามารถกำจัดโซเดียม ของเหลวส่วนเกิน รวมถึงของเสียต่างๆออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อยหอบ คันตามผิวหนัง หรือมีอาการบวมที่ขา
โรค Multiple Myeloma จะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยแต่ละรายจึงอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งอาการต่างๆข้างต้นอาจไม่ได้เป็นผลมาจากมะเร็งชนิดนี้เสมอไป ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของโรคนี้หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเองควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่โรค Multiple Myeloma ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งสะสมที่ไขกระดูก แทนที่ จะผลิตแอนติบอดีที่เป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้ม กัน อีกทั้งเซลล์มะเร็งยังผลิตมัยอิโลมาโปรตีนซึ่งเป็นเซลล์ผิดปกติที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยปกติแล้ว Multiple Myeloma จะไม่ก่อให้เกิดเนื้องอก แต่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นในไขกระดูก เข้าทำลายกระดูก และรบกวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดต่างๆ ซึ่งมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเผชิญโรคนี้ได้มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เพศ เพศชายมีแนวโน้มของการเกิดโรคนี้มากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากถึง 4 เท่า โรคประจำตัว เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพลาสมาเซลล์ชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ได้ และการได้รับรังสีอาจเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้
...
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิลมัยอิโลมาทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของโรค ทั้งเคมีบำบัด เพื่อกำจัดและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และช่วยไม่ให้กระดูกได้รับความเสียหายจากโรค การฉายรังสี โดยใช้รังสีพลังงานสูงทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทำเคมีบำบัดหรือผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูก การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
การรักษาตามอาการ เช่น การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ การให้เลือดหรือการใช้ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิตินเพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง การกรองพลาสมาเพื่อกำจัดโปรตีนผิดปกติออกจากกระแสเลือดและบรรเทาอาการต่างๆ
การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง ทั้งรูปแบบของยารับประทานหรือยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อยับยั้งการทำงานของสารบางอย่างภายในเซลล์มะเร็งจนทำให้เซลล์มะเร็งตาย รวมถึงอาจใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งด้วย รวมทั้งการทำภูมิคุ้มกันบำบัด โดยใช้ยาเพื่อเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันที่จะเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง.