ภารกิจประการหนึ่งของ “ครอบครัวซอกแซก” ในการเดินทางไปญี่ปุ่นทริปนี้ก็คือ การไปเยี่ยมคารวะอนุสาวรีย์ “ก็อดซิลล่า” สัตว์ประหลาดเชื้อชาติญี่ปุ่นรูปร่างคล้ายๆไดโนเสาร์ “ขวัญใจ” เจ้าหนูน้อยวัย 5 ขวบ หลานชายของหัวหน้าทีมซอกแซกนั่นเอง
เจ้าหนูน้อยรายนี้ให้ความสนใจและบันเทิงใจ กับตุ๊กตา “ก็อดซิลล่า” มากว่า 3 ปี จะด้วยสัญชาติหรือจิตสำนึกหรืออะไรก็ไม่รู้ได้ เมื่อวันหนึ่งพ่อแม่ของเจ้าหนูพาเจ้าหนูไปเดินที่แผนกขายของเล่นของห้างห้างหนึ่ง เจ้าหนูก็ชี้นิ้วไปที่ตุ๊กตาก็อดซิลล่า แล้วอ้อนวอนให้พ่อกับแม่ซื้อมาหนึ่งตัว จากนั้นก็ขอให้ซื้อแล้วซื้ออีก น่าจะเกือบๆร้อยตัวได้แล้วกระมัง
โชคดีที่บ้านเรามีตุ๊กตาพลาสติกวางขายในร้าน “20 บาท” เยอะ และก็มีตุ๊กตาก็อดซิลล่ารวมอยู่ด้วย การที่เจ้าหนูน้อยรายนี้หลงใหลก๊อดซิลล่า จึงไม่เดือดร้อนพ่อแม่เท่าไรนัก
ด้วยความสงสัยว่า ทำไมหลานชายตัวน้อย จึงชอบก็อดซิลล่า...หัวหน้าทีมซอกแซกจึงต้องสอบถามหาความรู้ว่าเด็กไทยอื่นๆเป็นอย่างไรบ้าง ก็ปรากฏว่าเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้เป็นขวัญใจทั้ง “เด็กไทย” และ “ผู้ใหญ่ไทย” จำนวนไม่น้อย
ที่สำคัญไม่เพียงเด็กไทย หรือผู้ใหญ่ไทยเท่านั้น เมื่อค้นข้อมูลไปเรื่อยๆก็พบว่า เจ้าก็อดซิลล่า ยังเป็นขวัญใจของเด็กๆและผู้ใหญ่เกือบ ทั่วโลก และไม่ใช่แต่ผู้คนรุ่นนี้เท่านั้น แต่ครองมานานแล้วถึง 69 ปี จะครบ 70 ปีเร็วๆนี้
ตามประวัติ ก็อดซิลล่า ตัวแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1954 หรือปี พ.ศ.2497 โดยฝีมือ บริษัท ภาพยนตร์โตโฮ ของญี่ปุ่น
บริษัทนี้เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์เก่าแก่ของดินแดนอาทิตย์อุทัย ผลิตภาพยนตร์คลาสสิกออกมาหลายเรื่อง แต่ก็สร้างภาพยนตร์ประเภทสัตว์ประหลาดต่างๆด้วยเช่นกัน เพราะเก่งในแง่การสร้างฉากเทียมให้สัตว์ประหลาดทำลายบ้านเมืองได้เสมือนจริง โดยฝีมือผู้กำกับฝ่ายศิลป์ที่ชื่อว่า เอจิ สึบูรายะ นั่นเอง
...
ซึ่งในปี ค.ศ. 1954 หรือ 2497 ก็มีความคิด ที่จะสร้างภาพยนตร์สัตว์ประหลาดเรื่อง ก็อดซิลล่า ขึ้น โดยผู้อำนวยการสร้าง โทโมยูกิ ทานากะ ซึ่งมอบหมายให้ อิชิโร ฮันดะ เป็นทั้งผู้เขียนบท และกำกับการแสดง โดยมี เอจิ สึบูรายะ เป็น ผู้กำกับเทคนิคดังกล่าว
นอกจากการสร้างที่ดูสมจริงสมจัง เมื่อปรากฏสัตว์ประหลาดโผล่จากทะเลออกมาทำลายบ้านเมืองของญี่ปุ่นอย่างดุดัน จนทำให้แฟนตะลึงในฝีมือแล้ว พล็อตเรื่องที่กำหนดให้เจ้าสัตว์ประหลาดคล้ายไดโนเสาร์โบราณที่ว่านี้ นอนหลับอยู่ไม่รู้กี่ล้านปี แต่โดนปลุกให้ตื่นโดยระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯทิ้งใส่ญี่ปุ่น จนตื่นขึ้นมาอาละวาดเป็นการใหญ่นั้น ยังเป็นภาพสะท้อนความโหดร้ายของระเบิดปรมาณูอีกด้วย
เจ้าสัตว์ประหลาดที่ชื่อ ก็อดซิลล่า กลายเป็นหนังทำเงินอย่างมหาศาลให้แก่โตโฮ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งมีเขียนบทแทรกในเชิงต่อต้านนิวเคลียร์ค่อนข้างมาก และมีความยาวถึง 96 นาทีนั้นคนญี่ปุ่นดูแล้วก็ “อิน” ไปตามๆกัน
ต่อมาโตโฮตัดฉากที่เกี่ยวกับต่อต้านนิวเคลียร์ออกบ้างให้เหลือ 80 นาทีเศษ ส่งไปฉายที่สหรัฐฯในอีก 2 ปีถัดมา ประสบความสำเร็จทำเงินมโหฬารเช่นกัน
เป็นที่มาของก็อดซิลล่าอีกหลายตอน หลายเวอร์ชัน ตลอดเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา น่าจะกว่า 30 ชุด 30 เรื่องแล้วกระมัง
ล่าสุดก็คลอด Godzilla : Minus one ไปเมื่อ 3 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นวันครบ 69 ปี ของก็อดซิลล่าด้วย นับเป็นตอนที่ 33 ของภาพยนตร์ชุดนี้ และมีข่าวว่าคนดูแน่นขนัดเช่นกัน และมีรายงานว่าจะส่งไปฉายที่สหรัฐฯในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับคาดหวังจะทำเงินถล่มทลายอีกครั้ง
ครับ ทั้งหมดก็คือข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปและความยิ่งใหญ่ของเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ เท่าที่พอค้นหาได้ในระยะเวลาสั้นๆ
แต่ก็โชคร้ายอยู่สักหน่อยที่หัวหน้าทีมซอกแซก ความจริงก็เป็นคนร่วมสมัย เพราะดูหนังสัตว์ประหลาดของโตโฮมาเยอะเหมือนกันในยุคที่คุณ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ไปเรียนที่โตโฮและนำเทคนิคต่างๆมาสร้างภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง เช่น “ท่าเตียน” (ยักษ์วัดแจ้งยกพวกไปตีกับ ยักษ์วัดโพธิ์หน้าโรงแรมดุสิตธานี) และ “หนุมาน พบ 7 ยอดมนุษย์” ฯลฯ
รู้สึกเฉยๆกับก็อดซิลล่า เพราะไม่ได้ตามดู เลยสักตอนเดียว จึงไม่ค่อยอินเท่าไร จนกระทั่งเจ้าหลานชายวัย 5 ขวบ เกิด “อิน” ขึ้นมา จึงต้องรับปากว่าหากไปญี่ปุ่นเมื่อไรจะพาไปดู “อนุสาวรีย์ ก็อดซิลล่า” ตามสถานที่ต่างๆที่มีการสร้างไว้ในโตเกียว เพื่อเอาใจหลานเสียมากกว่า
ในที่สุดก็ได้ไปลูบหลังลูบไหล่กับอนุสาวรีย์ ก็อดซิลล่า บนหลังคาอาคารโตโฮ ซึ่งเคยเป็นโรงภาพยนตร์ของ โตโฮ ที่ย่าน ชินจุกุ อันมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะเจ้าก็อดซิลล่าตัวนี้จะอ้าปากพ่นไฟทุกๆ 1 ชั่วโมง และจะมีนักท่องเที่ยวไปยืนรอดูจำนวนมาก
อาคารหลังนี้โตโฮใช้ประกอบธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งโรงแรมที่ชื่อว่า Gracery Shinjuku Tokyo ด้วย ส่วนหัวของก๊อดซิลล่าตัวที่ว่านี้จะอยู่ที่ดาดฟ้าชั้น 8 ของโรงแรม และจะมีนิทรรศการ ก็อดซิลล่าอยู่ที่ชั้น 8 นี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ก็จำได้ว่าใกล้ๆโรงถ่ายโตโฮ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับโรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว ก็จะมีอนุสาวรีย์ของ ก็อดซิลล่า อยู่ด้วยอีกตัวหนึ่ง เป็นอาณาบริเวณที่เรียกว่า “ก็อดซิลล่าสแควร์” เราก็ยกขบวนไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเช่นกัน
สรุปว่าไปซอกแซกญี่ปุ่นทริปนี้ได้ไปคารวะเยี่ยมเยียนอนุสาวรีย์ก็อดซิลล่ามาหลายๆที่ ได้เรียนรู้ และได้อ่านประวัติของเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้จนขึ้นใจ และทึ่งมากกับความสำเร็จของญี่ปุ่น
...
สงสัยว่าหัวหน้าทีมซอกแซกอาจจะต้องฝากเนื้อฝากตัวเป็นสาวก “ก็อดซิลล่า” ตามหลานชายวัย 5 ขวบ ไปด้วยอีกคนกระมัง?
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "ซูมซอกแซก" เพิ่มเติม