เพรสเตอร์ จอห์น เป็นนามของกษัตริย์นักบวชคริสเตียน ผู้เป็นปริศนามาเป็นเวลากว่าห้าศตวรรษ...เขาเป็นใครกัน? วันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนไปค้นหาชายลึกลับผู้นี้กันครับ
ชื่อเพรสเตอร์ จอห์น เริ่มโผล่ขึ้นมาในหน้า ประวัติศาสตร์เมื่อราวปี ค.ศ.1145 ประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตกเมื่อศตวรรษที่ 12 เต็มไปด้วยความสับสนยุ่งเหยิงนานาประการ ไหนจะสงครามความขัดแย้งของบรรดาเจ้าชายเมืองเล็กเมืองน้อยและนักรบของศาสนจักรผู้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เมื่อหันมาดูชายแดนยุโรปด้านตะวันออก ก็อยู่ภายใต้สถานการณ์คุกคามของกองทัพอิสลามที่มีการจัดระบบอย่างดี แถมทั้งดินแดนส่วนใหญ่ของสเปนก็ตกอยู่ในการปกครองของพวกมัวร์ซึ่งเป็นมุสลิมอีก และยังมีข่าวการยึดเมืองเอเดสสา ในปี 1144 ซึ่งถือเป็น จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของสงครามครูเสด ยิ่งทำให้ชาวคริสเตียนร้อนรน หวังจะระดมเขี้ยวเล็บเพื่อยึดแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์คืนมา แต่ความหวังนั้นยังมองหาหนทางไม่เห็น
ข่าวเมืองเอเดสสาล่มถูกนำไปทูลโป๊ปอูเจนิอัสที่ 3 แห่งเลอวานต์ โดยฮิวจ์ บิชอปแห่งจาบาลาในซีเรีย การพบกันระหว่างบิชอปและสมเด็จพระสันตะปาปาที่วิแตรโบ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1145 เป็นเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ว่าท่านบิชอปได้จุดประกายความหวังให้วาบขึ้นใหม่ ท่านบอกว่าข่าวอันน่าหดหู่ของการล่มสลายของเอเดสสาอาจกู้คืนได้ หากพวกครูเสดจะได้รับการช่วยเหลือจากทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความช่วยเหลือจากราชอาณาจักรคริสเตียนทรงอำนาจทางตะวันออก

...
ท่านบิชอปเล่าว่า ราชอาณาจักรแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกไกล “เหนือเพอร์เชียและอาร์มาเนีย” ผู้ปกครองเป็นราชานักบวชนามไอโอฮาเนส เพรสไบเตอร์ (Iohannes Presbyter หรือ John the Elder-จอห์นผู้เฒ่า) ซึ่งเป็นทายาทสายตรงจากโหราจารย์ (Magi) คนหนึ่งจากคณะโหราจารย์ทั้งสามผู้เคยเดินทางมาหาพระเยซูเจ้าครั้งที่พระองค์ยังเป็นทารก บิชอปกล่าวว่า ไอโอฮาเนส เพรสไบเตอร์ เพิ่งมีชัยต่อกษัตริย์มุสลิมแห่งเพอร์เชีย และ (น่าจะ) เคยพยายามยกทัพไปเยรูซาเล็มเพื่อช่วยพวกคริสเตียนที่กำลังประสบปัญหาสาหัส ทว่ากองทัพของไอโอฮาเนส เพรสไบเตอร์ กลับไปไม่ถึง ต้องถอยกลับบ้าน เนื่องจากกองทัพไม่สามารถข้ามแม่น้ำไทกรีซได้
พระองค์ถึงกับเดินทัพไปบริเวณต้นแม่น้ำเพื่อหาสถานที่ซึ่งน้ำจะแข็งตัวในฤดูหนาว แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะหลังจากรอเวลาอยู่นาน น้ำก็ไม่เป็นน้ำแข็งเสียที การรอทำให้ต้องสูญเสียคนไปเป็นอันมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย พระองค์จำเป็นต้องยกทัพกลับ
ข่าวนี้ทำเอาราชสำนักในยุโรปเรืองรองไปด้วยความหวังอีกครั้ง พวกเขาลือหึ่งกันว่า พันธมิตรคริสเตียนผู้นี้อาจช่วยโจมตีมุสลิมจากข้างหลังได้แน่ ราชสำนักยุโรปพยายามตามรอยค้นหากันยกใหญ่ แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าที่ไหนคือ บ้านของไอโอฮาเนส เพรสไบเตอร์ หรือเรียกแบบอังกฤษว่าเพรสเตอร์ จอห์น อย่างแท้จริง

คำตอบเพียงข้อเดียวปรากฏในสาส์นซึ่งนัยว่า เขียนเมื่อราวปี ค.ศ.1165 มาจากราชานักบวชเอง มันเป็นสารที่เพรสเตอร์ จอห์น มีไปถึงจักรพรรดิยุโรปสองพระองค์ คือ จักรพรรดิไบแซนไทน์แห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในทำนองจดหมายแนะนำตัว ซึ่งใช้ถ้อยคำหรูเลิศถึงขุมพลังและสมบัติมหาศาลของพระองค์
ในจดหมายนั้น คิงเพรสเตอร์ จอห์น เล่าถึงอาณาเขตราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งใหญ่ยิ่งขนาดรวมเอา “อินเดียทั้งสาม” ไว้ด้วยกัน! สำหรับช่างทำแผนที่สมัยกลาง ประโยคนี้สร้างความประทับใจเหลือหลาย พวกเขารู้ว่าอินเดียทั้งสามคือ อินเดียใกล้ อินเดียไกลและอินเดียกลาง
อินเดียใกล้และอินเดียไกลคือส่วนเหนือและส่วนใต้ของอนุทวีปอินเดีย ส่วนอินเดียกลางคือภูมิภาค แอฟริกาซึ่งภายหลังรู้จักกันในนามเอธิโอเปีย อาณาจักรตั้งอยู่ครึ่งทางตามเส้นทางบกและทะเลจากยุโรปถึงอินเดียผ่านทางมุมหนึ่งของอียิปต์และทะเลแดง
“หม่อมฉันครองราชอาณาจักรถึง 72 แห่ง พลเมืองมีตั้งแต่มนุษย์กินคนไปยันพวกเซนทอร์ไหนจะเหล่านักรบหญิงอเมซอนไปกระทั่งถึงพวกยักษ์ ในอาณาจักรของหม่อมฉันยังมีน้ำพุแห่งความเยาว์วัยพุพุ่งจากพื้นในละเมาะพุ่มพริกไทยป่า น้ำพุนี้หากใครได้ดื่มในยามท้องว่างเข้าไปสามครั้ง จะไม่เจ็บ ไม่ป่วยไปตลอด 30 ปี ส่วนใครที่ลงอาบในแอ่งน้ำพุ เขาผู้นั้น ย่อมมีอายุถึง 100 หรือ 1,000 ปี โดยที่ร่างกายไม่แก่เกินอายุ 32
หม่อมฉันรู้ว่ากำเนิดจากครรภ์พระมารดาเมื่อ 562 ปีมาแล้ว นั่นหมายความว่า หม่อมฉันก็ได้ลงอาบในน้ำพุแห่งความเยาว์วัยมาแล้ว 6 หน...”

...
สำหรับเรื่องกำลังอำนาจ คิงเพรสเตอร์ จอห์น โอ้อวดว่า มีกองทัพมาตรฐานทำศึก 13 ทัพ ทัพทั้งหลายนำโดยเครื่องหมายกางเขนหุ้มทองคำประดับอัญมณี ไพร่พลทัพประกอบด้วยอัศวิน 10,000 คน ทหาร 100,000 คน ที่พระราชวังพระองค์มีเจ้าอาวาสวัดคริสต์เป็นผู้เตรียมพระกระยาหารให้ เงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับที่นี่ เพราะพระองค์เข้าถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า อี โดนิส (Y donis) เป็นแม่น้ำไหลมาจากสรวงสวรรค์ลงสู่ปฐพี แม่น้ำเต็มไปด้วยหินมีค่า เช่น ไพลิน นิล โมราและมรกต
เนื้อหาในจดหมายเล่นเอาผู้คนในสมัยกลาง ซึ่งยังศรัทธาเวทมนตร์คาถาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตาลุกวาว และเต็มใจจะเชื่อ ในสมัยนั้นแผ่นดินแสนไกล ที่ยังไม่มีการสำรวจ ไม่มีใครรู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร ได้แต่คาดเดาและเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของมนุษย์เถื่อนและสัตว์ร้ายลึกลับ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผู้นำชาติตะวันตกในเวลานั้นจะเชื่อมั่นในจดหมายที่ส่งมา และส่งเสริมให้นักเดินทางกล้าเดินทางออกไปทางตะวันออกเพื่อตามหาอาณาจักรในฝันนี้ คนใจกล้าก็ออกเสาะ หาราชอาณาจักรคริสเตียนของเพรสเตอร์ จอห์น กันวุ่นวายตั้งแต่นั้น และต่อเนื่องยาวนานมาอีกตลอด 3 ศตวรรษ นักสำรวจใหญ่น้อยทั้งหลายก็พยายามสืบหาอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่เจออาณาจักรของเพรสเตอร์ จอห์น เสียที...
ไม่ช้า พวกมุสลิมก็ดันพวกยุโรปให้ถอยห่างจากตนในศตวรรษที่ 16 ความกลัวของชาติยุโรปสลาย ไปพร้อมๆกับแรงกระตุ้นที่จะค้นหา อาณาจักรในตำนานของเพรสเตอร์ จอห์น ทุกวันนี้ หลังจากเวลา 800ปีที่รายงาน ชิ้นแรกจับจินตนาการชาวทวีปยุโรป สิ่งที่เหลืออยู่คือข้อมูลอ้างอิงในแผนที่โบราณเพียงหยิบมือ

ท่ามกลางการสำรวจหาอาณาจักรของเพรสเตอร์ จอห์น ขยับออกไปเรื่อยๆตามการเติบโตของ ความรู้ทางภูมิศาสตร์และการค้นพบสถานที่ที่ไม่ควรพบ นานวันตำแหน่งที่อยู่ของราชาพระองค์นี้ย้ายต่อไปยังภูมิภาคที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ความเชื่อในการดำรงอยู่ของเพรสเตอร์ จอห์น มีผลอย่างลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์การสำรวจและการค้นพบของชาวยุโรปในเอเชียและแอฟริกา
เพรสเตอร์ จอห์น เป็นผู้ไม่มีตัวตนอยู่จริงใช่หรือไม่ เรื่องนี้ตอบฟันธงลงไม่ได้ ด้วยว่ามีเรื่องราวที่ลงรอยอยู่เช่นกัน นักวิชาการปัจจุบันที่ได้ยินเรื่องนี้มีความเห็นว่า เบื้องหลังตำนานสำคัญก็มีความจริงแฝงอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่การยึดเมืองทรอยกระทั่งถึงเรื่องคิงอาเธอร์ เรื่องเล่าของเพรสเตอร์ จอห์น ดูจะ ผสมความจริงและความฝันเข้าด้วยกัน กระนั้นการตามหาที่จบลงด้วยการหาไม่เจอนั้น เป็นการหาผิดทางหรือไม่ เนื่องจากในเวลานั้นมีข้อมูลว่า มี บรรดาสุลต่านมุสลิมแห่งเพอร์เชียพ่ายแพ้สงครามในช่วงก่อนที่ข่าวชิ้นแรก ของเพรสเตอร์ จอห์น จะสร้างความฮือฮาในยุโรปเมื่อ ค.ศ.1145จริงๆ
หากไล่เรียง ตามประวัติศาสตร์จะพบว่ามีสงครามโค่นเพอร์เชียเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1141 ใกล้ซามาคาน (ทางเหนือของอิหร่านปัจจุบัน) ชัยชนะ ในสงครามเป็นของพวกมองโกลจากเอเชียกลาง ภายใต้การนำของเกอร์ข่าน (Gur-Khan) นักประวัติศาสตร์บางคนเลยเชื่อว่า นี่คือชื่อที่พวกอาหรับน่าจะออกเสียงเป็นยูฮานาน (Yuhanan) ครั้นข่าวศึกไปถึงตะวันออกกลาง ชื่อก็เพี้ยนไปตามการออกเสียงแบบละตินต่อไปอีกว่าไอโอฮาเนส และกลายเป็นจอห์นในที่สุด

...
ไม่ว่าข้อสรุปของนักวิชาการสายปัจจุบันจะใช่หรือไม่ แต่มันก็ตรงกับการกล่าวอ้างของมาร์โค โปโล-นักเดินทางชาวเวนิส ผู้ใช้เวลาเกือบ 25 ปีในเอเชียระหว่าง ค.ศ.1271 และ ค.ศ.1295 เขาระบุว่าอาณาจักรของเพรสเตอร์ จอห์น ก็คืออาณาจักรของพวกมองโกล และพลเมืองของเพรสเตอร์ จอห์น ที่เขาพบในเวลาต่อมาคือพวกตาร์ตาร์ (Tartars) เวลานั้นพระญาติของเพรสเตอร์ จอห์น ถือครองอาณาเขตที่ราบคูคู โคตาน (Kuku Khotan) ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง 300 ไมล์ (500 กิโลเมตร)
ข้อสรุปของมาร์โค โปโล อาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ดีนัก ผู้ปกครองชาวตาร์ตาร์ก็ไม่เข้ากับลักษณะที่ควรจะเป็นของเพรสเตอร์ จอห์น แต่อย่างใด คำอ้างของเขาเลยมีคนเชื่อน้อย และยังคงตระเวนหากันต่อไปและต่อไป แม้แต่ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองยุโรปยังคงยึดติดกับความฝันที่จะค้นพบพันธมิตรคริสเตียนทางตะวันออกที่จะมาช่วยต่อต้านพวกมุสลิมผู้น่ากลัว
ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษ 1490 เรื่องเพรสเตอร์ จอห์น กลับมาปลุกกระแสร้อนแรงอีกครั้งจากรายงานของนักสำรวจชาวโปรตุเกส วาสโก ดา กามา (ชาวยุโรปคนแรกที่แล่นเรือรอบแหลมแอฟริกาใต้) ดา กามา เล่าว่า เขาได้ยิน (แต่ไม่ได้เห็นเอง) เรื่องราชาที่เรียกกันว่าเพรสเตอร์ จอห์น พระองค์เป็นผู้ครองแผ่นดินลึกเข้าไปภายในสักที่หนึ่งของแอฟริกาตะวันออกเหนือโมซัมบิก

แต่มันจะใช่อาณาจักรของเพรสเตอร์ จอห์น จริงหรือน
ตามที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าไว้ ในแอฟริกามีอาณาจักรคริสเตียนจริง หากว่ามันอยู่ในเอธิโอเปีย บรรดาจักรพรรดิเอธิโอเปียในศตวรรษที่ 12 เป็นคริสเตียนทั้งสิ้นและเป็นที่รู้กันว่าติดต่อกับโรมอยู่เสมอ ทว่าคำโอ้อวดว่าร่ำรวยมากมายตามสาส์นที่ส่งถึงพระจักรพรรดิต่างหากที่ต้องสงสัย ในเมื่อเอธิโอเปียยังคงเป็นชาติที่ห่างไกลจากคำว่าร่ำรวยไปไกล หรือจะพูดให้ถูกก็คือ...เป็นประเทศที่จนมากแม้จวบปัจจุบันนี้ยังมีสำเนาของสาส์นอีกฉบับซึ่งพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ส่งไปหาเพรสเตอร์ จอห์น ในปี ค.ศ.1177 เพื่อตักเตือนเรื่องการโอ้อวด และเชิญให้พระองค์ส่งข่าวมายังโรม ซึ่งคาดว่าส่งไปไม่ถึงปลายทาง สำเนาสาส์นฉบับนั้นยังคงอยู่จนทุกวันนี้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าฉบับจริงส่งไปที่ไหน หรือไปหาใคร และเราก็ยังไม่มีบันทึกถึงจดหมายตอบจากเพรสเตอร์ จอห์น
แต่แม้ว่าจะไม่มีใครพบอาณาจักรของเพรสเตอร์ จอห์น ก็ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่า เรื่องกษัตริย์คริสเตียนองค์นี้ จะเป็นเพียงเรื่องกุขึ้นตามจินตนาการของบิชอปในศตวรรษที่ 12 หรือไม่.
โดย : ภัสวิภา
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน