แม้ว่ากล้อง DECam หรือดาร์ก เอนเนอจี คาเมรา (Dark Energy Camera) ซึ่งติดตั้งอยู่ที่กล้องโทรทรรศน์ Víctor M. Blanco ขนาด 4 เมตร ในหอดูดาวเซอร์โรโทโลโล อินเตอร์อเมริกัน ในชิลี จะมีภารกิจหลักคือค้นหาพลังงานมืดในจักรวาล แต่ก็สามารถจับภาพวัตถุบนท้องฟ้าได้น่าทึ่ง
ล่าสุด กล้อง DECam ได้จับภาพความละเอียดของดาราจักรหรือกาแล็กซีเซนทอรัส เอ (Centaurus A) ที่แม้จะปกคลุมไปด้วยละอองฝุ่นแต่ก็มีลักษณะเฉพาะดูแปลกตา บ่งบอกว่ากาแล็กซีขนาดใหญ่มหึมาแห่งนี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของกาแล็กซีอื่นๆในอดีต ทั้งนี้ กาแล็กซีเซนทอรัสเอ อยู่ห่างโลกออกไป 12 ล้านปีแสง ในทิศของกลุ่มดาวคนครึ่งม้าทางซีกโลกใต้ ภาพนี้ให้มุมมองที่งดงามของดวงดาวที่ส่องระยิบ ระยับและกลุ่มฝุ่นที่ปกคลุมใจกลางกาแล็กซีอันสว่างไสว ฝุ่นเหล่านี้เป็นผลมาจากการชนกันของกาแล็กซีในอดีต นั่นคือกาแล็กซีขนาดใหญ่ที่ควบรวมกับกาแล็กซีชนิดก้นหอยหรือทรงกังหันที่ขนาดเล็กกว่า ตรงส่วนของแนวก๊าซและฝุ่นที่มีอุณหภูมิต่ำอยู่กันอย่างหนาแน่นในเซนทอรัส เอ จึงมีการก่อตัว ของดวงดาวอยู่กระจัดกระจาย ซึ่งระบุได้จากเมฆ ไฮโดรเจนสีแดงและดวงดาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ จำนวนมากโดยมองเห็นตรงปลายแต่ละด้านของแนวก๊าซและฝุ่นที่อยู่กันหนาแน่น
ด้วยความที่กาแล็กซีเซนทอรัส เอ อยู่ใกล้โลกอย่างมากแถมยังมีความสว่างเรือง เลยถูกจัดเป็นหนึ่งในกาแล็กซีขนาดใหญ่ของซีกโลกใต้ ที่ถูกศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดนับตั้งแต่ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2369.
(ภาพประกอบ Credit : CTIO/NOIRLab/DOE/NSF/AURA)