“แผลเน่าเปื่อย หนังตายด้านจนต้องขูดเท้าเป็นระยะๆ จอประสาทตาเสื่อม หลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไต ความผิดปกติของปลายระบบ ประสาท แผลเรื้อรังที่เท้าจนต้องตัดเท้าหรือขาทิ้ง...”
ทั้งหมดนี้คือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งนับวันจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานราว 415 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ.2583 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มเป็น 642 ล้านคน
ล่าสุด 1 ใน 11 คนของประชากรวัยผู้ใหญ่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน...
ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานราว 5 ล้านคนในจำนวนนี้จะเสียชีวิตประมาณปีละ 2 หมื่นคน...และมีแนวโน้มว่าการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ เบาหวาน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย และผู้หญิงที่เป็นเบาหวานมีโอกาสถึง 10 เท่าที่จะป่วยด้วยโรคหัวใจ
การประชุมวิชาการในหัวข้อ “Managing diabetes in the digital age” ระหว่างการประชุมวิชาการประจำปี 2560 ของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ซึ่ง บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดร่วมกันจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อเร็วๆนี้ พูดถึงการดูแลรักษาโรคเบาหวานไว้อย่างน่าสนใจ

...

นพ.เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ อายุรแพทย์ โรคเบาหวาน โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เผยว่า คนที่เป็นโรคเบาหวานหากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจะส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน การดูแลที่ดีที่สุด คือต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆถึง 5 อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย คือ สมอง ตา หัวใจ ไต เท้า ทำให้เกิดโรคร่วมตามมาอีกหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง อัมพาต และแผลเรื้อรังที่เท้า ซึ่งเป็นผลพวงจากความเสื่อมของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือ หัวใจ งานวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
“โรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดพิการและเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานนั้น จริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับวินัยของผู้ป่วยในการดูแลตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อ สุขภาพ ออก กำลังกายเป็นประจำ พบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด” คุณหมอเอกลักษณ์บอก
แต่สิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่ดีที่สุด คุณหมอเอกลักษณ์ บอกว่า การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (Self-monitoring of blood glucose, SMBG) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการดูแลตนเองให้คนไข้เบาหวาน เพราะการตรวจวัดน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คนไข้เบาหวานเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร กิจกรรมทางกาย รวมทั้งความเครียด ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำมาใช้เพื่อปรับวิธีการดำเนินชีวิตควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการเกิดโรคแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด
แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานปี 2560 ให้คำแนะนำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก กลุ่มที่จำเป็นต้องเจาะ ถือเป็นมาตรฐานการดูแลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่จะต้องคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวด ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่จำเป็นต้องตรวจเป็นประจำ, ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการน้ำตาลต่ำจนหมดสติบ่อยครั้ง หรือไม่แสดงอาการเตือนเมื่อมีน้ำตาลต่ำ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ฉีดอินซูลินวันละ 4 เข็ม จำเป็นต้องเจาะน้ำตาลวันละ 4 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน
กลุ่มที่สอง กลุ่มที่แนะนำให้เจาะ (recommended) เพราะมีส่วนช่วยในการดูแล ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ฉีดอินซูลิน เพื่อจะได้ปรับน้ำตาลให้พอดีกับอินซูลินที่จะฉีดเข้าร่างกาย
ส่วนที่จะดูว่าจะต้องเจาะบ่อยแค่ไหน อาจใช้หลักง่ายๆคือ ผู้ป่วยฉีดอินซูลินกี่เข็ม ก็ให้เจาะเท่ากับจำนวนเข็มที่ฉีด เช่น ผู้ป่วยฉีดอินซูลินก่อนนอน ก็ควรเจาะตรวจวันละครั้งในตอนเช้า จะได้นำค่าน้ำตาลในตอนเช้ามาใช้ในการปรับอินซูลินที่ฉีดก่อนนอน ควบคู่กันไป ส่วนผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินชนิดผสมแบบวันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้า-เย็น กลุ่มนี้จะต้องรับประทานอาหารตรงเวลาอย่างเคร่งครัด แนะนำให้เจาะน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารมื้อเช้าและเย็น หลักการง่ายๆก็คือ ตรวจค่าน้ำตาลตอนเช้าเพื่อใช้สำหรับปรับขนาดอินซูลินมื้อเย็นและตรวจค่าน้ำตาลตอนเย็นเพื่อใช้สำหรับปรับขนาดอินซูลินตอนเช้า

...
กลุ่มที่สาม กลุ่มทางเลือก (Option) ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาเม็ด ไม่ได้ฉีดยาและยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าเป้าหมายได้ แต่พร้อมที่จะเรียนรู้หลักการเพื่อปรับพฤติกรรม การเจาะน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง จะมีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนรู้การดูแลตัวเองซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเจาะแบบเป็นคู่ คือ เจาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงนับจากตอนเริ่มกิน สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้คือ อาหารอะไรที่กินแล้ว น้ำตาลจะขึ้นและไม่ขึ้น อาหารอะไรที่กินแล้วค่าน้ำตาลสูงก็ควรหลีกเลี่ยง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
หากมีระดับน้ำตาลที่ดีแล้ว ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องเจาะทุกวัน ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น
คุณหมอเอกลักษณ์ ทิ้งท้ายว่า การเจาะน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว สำคัญที่สุดคือ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาจากโรคอื่นๆได้มาก.