ขนมสโคน หนึ่งในขนมหวานที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในอังกฤษนิยมทานร่วมกับดื่มชายามบ่าย สโคนมีลักษณะเป็นรูปก้อนกลมหรือตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อสัมผัสนุ่มฟู หนาแน่น แต่ไม่แข็ง รสชาติหวานมัน ส่วนประกอบสำคัญ คือ แป้ง, ไข่ไก่, น้ำตาล, เนย, นม และผงฟู บางสูตรอาจเติมเครื่องเทศหรือผลไม้แห้งเพิ่มรสชาติ เช่น ลูกเกด ทว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในการทานสโคนคือ ไขมันทรานส์ ที่พบได้ในธรรมชาติ แต่ส่วนมากได้จากการสังเคราะห์ด้วยการนำน้ำมันพืชไปผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนหรือทำให้เกิดปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน เพื่อทำให้กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวมากขึ้น ทำให้เก็บน้ำมันไว้ได้นาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่เกิดไขง่าย ทนความร้อนสูง

ไขมันทรานส์มักพบในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น นม เนย ชีส และเนยเทียม เนยขาว มาการีนที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนหรือผ่านการเกิดปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน ฉะนั้นจึงอาจพบไขมันทรานส์ได้ในขนมสโคน ซึ่งการทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ปริมาณมาก ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น มีไขมันไม่ดีในเลือด (LDL-Cholesterol) เพิ่มขึ้น และทำให้ไขมันที่ดีในเลือด (HDL-Cholesterol) ลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคอ้วนและมะเร็ง ตามกฎหมายไทยกำหนดให้กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรืออาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่าย องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคน้อยกว่า 2.2 กรัม/วัน หรือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และในอาหารทุกประเภทไม่ควรมีปริมาณไขมันทรานส์เกิน 2 กรัม/100 กรัมของไขมันหรือน้ำมันทั้งหมด

สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างขนมสโคนจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ที่ขายตามคาเฟ่และร้านเบเกอรีในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ ผลการวิเคราะห์พบว่าใน 5 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณไขมันทรานส์เลย

...

เห็นผลอย่างนี้แล้วผู้บริโภคสามารถทานขนมสโคนได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่ควรทานปริมาณมากหรือเป็นประจำ เพราะในขนมสโคนไม่ได้มีไขมันทรานส์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสารอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมันชนิดอื่นๆ เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย หากทานเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้.


ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม