เห็ดหูหนูขาว นับเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารไทยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงจืด ยำแซ่บ เย็นตาโฟ

เห็ดหูหนูขาวเป็นเห็ดที่หาทานได้ง่ายราคาไม่แพง มีขายทั้งแบบสดๆตามร้านค้าในตลาดสด หรือซุปเปอร์มาร์เกต และแบบแห้งที่ขายตามร้านขายของแห้งทั่วไป

ชาวจีนยกย่องให้เห็ดหูหนูขาวเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพ เป็นยาช่วยบำรุงกำลังและผิวพรรณ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยในการระบายท้อง และบำรุงระบบย่อยอาหาร ทว่าเห็ดชนิดอื่นๆรวมถึงเห็ดหูหนูขาว หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าอาจมีโลหะหนักที่เป็นอันตราย เช่นแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ด้วย

ปกติเราจะได้รับแคดเมียมจากอาหาร น้ำ อากาศ โดยเฉพาะจากการทานอาหารที่มีพืช ผัก สมุนไพร หรืออาหารทะเลที่ปนเปื้อนแคดเมียม

แล้วส่วนประกอบอาหารเหล่านี้ปนเปื้อนแคดเมียมได้อย่างไร?

พืช ผัก สมุนไพร จะปนเปื้อนแคดเมียมได้จากการดูดซึมแคดเมียมที่มีในดินที่เพาะปลูก หรือน้ำที่ใช้รดเข้าไปสะสมในลำต้นและใบ ส่วนอาหารทะเลหากจับมาจากแหล่งน้ำทะเลที่ใกล้กับแหล่งการทำอุตสาหกรรม หรือแหล่งน้ำที่ใกล้กับบริเวณที่ทำเหมือง ก็อาจทำให้อาหารทะเลมีแคดเมียมปนเปื้อนได้

หากเราได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆจากการทานอาหารจะทําให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำลายไหล ปวดท้อง ช็อก ไตและตับถูกทําลาย

วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 2 ร้านค้า และ 3 ยี่ห้อที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์แคดเมียมปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบแคดเมียมปนเปื้อนในเห็ดหูหนูขาวแห้งทั้ง 5 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณที่น้อยมาก

ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานปริมาณปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมไว้ในอาหาร

เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าแม้เห็ดหูหนูขาวจะมีประโยชน์เพียงใด ก็อย่าทานกันให้บ่อยนัก ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่จะดีกว่า เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกาย.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย