ตลาดพระเครื่องไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อ “จีนเปิดประเทศ” กลุ่มนักท่องเที่ยวสายมูเตลูเดินทางเข้ามาเช่าหาวัตถุมงคลนำไปต่อยอดสู่ “เชิงพาณิชย์” เปิดแผงขายพระในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยส่วนหนึ่งเพราะ “การเช่าพระเครื่อง” นอกจากจะหวังพึ่งพุทธคุณความศรัทธาแล้วยังสามารถเพิ่มมูลค่าจากการเช่าเพื่อการลุงทน “อันมีอัตราการขึ้นลงของราคาไม่ต่างจากซื้อทอง หรือซื้อที่ดิน” ซึ่งยิ่งพระอายุเก่าแก่ราคาก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น ทำให้เป็นช่องทางของเซียนพระจีนจับมือกับเซียนพระไทยปั่นราคากัน
กลายเป็นผิดแปลกจากวัตถุประสงค์ในการสร้างพระเป็นเครื่องระลึกถึงคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั้น ณรงค์ชัย โตอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพระพิมพ์ ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ อ.เมืองสุโขทัย เล่าว่า ถ้าย้อนดูคนโบราณสร้างพระนั้นมีแนวคิด “สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา” ตามความเชื่อเรื่องความเสื่อมสลายของศาสนาในราว 5,000 ปี

ทำให้คิดสร้างพระบรรจุในกรุสำหรับ “คนในชั้นหลัง” อันเป็นเสมือนทำบุญสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี เพราะตามพระพุทธประวัติ “พระพุทธเจ้าเกิดในภัทรกัปมี 5 พระองค์” กล่าวคือ 1.พระกกุสันธพุทธเจ้า 2.พระโกนาคมนพุทธเจ้า 3.พระกัสสปพุทธเจ้า และ 4.พระสมณโคตมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะ
...
แล้วพระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงทำนายว่า “พระพุทธศาสนาในภัทรกัปนี้จะมีอายุ 5,000 ปี” ปัจจุบันเป็นปีที่ 2566 นั้นเท่ากับเหลือเวลา 2434 ปีข้างหน้าจะเกิดพระศรีอริยเมตไตรย หรือพระพุทธเจ้าในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ “คนสมัยโบราณไม่อยากให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสลายหายไปจนหมดสิ้น” ทำให้มีการปั้นพระพิมพ์ และสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาแล้วนำไปบรรจุจัดเก็บไว้ในองค์พระเจดีย์ “อันมีแนวคิดจากเรื่องการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา” เพื่อให้คนรุ่นหลังค้นพบเล็งเห็นถึงคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
สังเกตจากวัตถุดิบนำมาสร้างนั้นประกอบด้วย “ดิน ชิน ผงปูน และว่าน” การปั้นมักใช้หลักตามธรรมชาติอย่างเช่น “พระพิมพ์” ก็ใช้ดินผสมน้ำตากลมเผาไฟที่จะสามารถคงรูปได้เป็นพันๆปี ในส่วนวัดวาอารามมักถูกสร้างขึ้นจาก “ดินเผา” เพราะตามหลัก “ดินเมื่อถูกเผาไฟไปแล้ว” จะไม่เกิดการเผาไหม้ซ้ำเป็นครั้งที่สองอีกได้

ฉะนั้นแม้ผ่านมาหลายร้อยปี “พระพิมพ์ และวัดสมัยสุโขทัยคงสภาพให้เห็นกันอยู่มากมายนี้” ในส่วนมวลสารสำคัญด้านพุทธคุณนั้นมีเพียง “ธรรมะของพระพุทธเจ้า” เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ยึดมั่นในวัตถุ ด้วยเหตุนี้ “คนโบราณ” มักไม่ห้อยพระเครื่องแต่จะยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นพุทธคุณที่ดีที่สุด
ตอกย้ำด้วย “ศิลาจารึกถูกค้นพบในเมืองสุโขทัย” พบข้อความจารึกพิธีบรรจุองค์พระพุทธรูป และพระพิมพ์นั้นว่า “มีการอัญเชิญชาวแม่ ชาวเจ้า ไพร่ฟ้าข้าไท” เข้ามาร่วมพิธีการทำบุญประพรมเครื่องหอมในห้องกรุ “เพื่อบูชาอุเทสิกเจดีย์เจตนาอุทิศแก่พระพุทธเจ้า” แต่กลับไม่ปรากฏเกี่ยวกับการปลุกเสกพระในยุคสุโขทัย
กระทั่ง “ยุคกรุงศรีอยุธยา” จึงค่อยปรากฏหลักฐานจาก “เสภาขุนช้างขุนแผน” ที่มีการเขียนเกี่ยวกับการปลุกเสกพิธีกรรมไว้อยู่ด้วย รวมถึงการออกทำสงครามของนักรบมักมีการใช้ผ้าประเจียด และผ้าลงเลขยันต์เป็นเครื่องป้องกันอันตราย หรือแม้แต่ “นักรบล้านนา” ก็มีการสักเสกเลขยันต์ และฝังอาถรรพณ์ตามร่างกาย
อย่างเช่น เพชรตาแมว เหล็กไหล เพื่อความคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย ดังนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพิธีกรรมการสร้างพระเครื่อง การทําเครื่องรางของขลังใช้สำหรับออกศึกสงครามค่อนข้างชัดเจน
แล้วเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา “ยุคการปราบฮ่อ” ที่เป็นชาวจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินในภาคเหนือของประเทศสยาม “ก่อความไม่สงบ” ทำให้ทางการต้องส่งกำลังขึ้นไปปราบปรามด้วยการเรียกรวมพลในมณฑลทหารบกเมืองพิษณุโลก แล้วในช่วงระหว่างนั้น “ห้องกรุบนองค์เจดีย์วัดนางพญาล้ม” ทำให้พระหล่นลงมา

...
ตามคำบอกเล่า “ทหารนำพระติดตัวไปปราบฮ่อด้วยปรากฏปืนยิงไม่เข้า” ส่วนสาเหตุเกิดจากปืนไม่มีคุณภาพ หรือพุทธคุณของพระนั้น “ไม่มีใครทราบ” แต่ที่แน่ๆเรื่องนี้กลายเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติในเวลาออกรบคนท้องถิ่นมักมีพระเครื่องติดไปด้วยเสมอ
ต่อมาก็มีเรื่องโจษจันกันอีก “กระทรวงกลาโหมออกหมายให้เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร หรือวัดท้ายตลาด กทม.” ทำการขุดเจาะเจดีย์เพื่อนำพระสมเด็จบรรจุในกรุออกมาแจกจ่ายให้แก่ “ทหารออกรบสงครามมหาเอเชียบูรพา” จนเป็นธรรมเนียมทำพระแจกทหารในยามออกศึกสงครามนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ยุคหลังถัดมา “หลวงพ่อเกจิชื่อดัง” ก็เริ่มปลุกเสกสร้างพระเครื่อง หรือเครื่องรางของขลังนำมาแจกให้ทหารออกรบมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพนั้นจนมาถึงวันนี้

แต่ความจริงแล้ว “การสร้างพระเครื่องสมัยโบราณ” ส่วนใหญ่เป็นพระบรรจุกรุทั้งสิ้นเพราะ “คนไทยสมัยก่อนไม่นิยมเก็บพระไว้ในบ้านอันมีความเชื่อว่าพระนั้นเป็นของวัด” แม้ว่าพระเครื่ององค์นั้นจะสร้างขึ้นเพื่อใช้บำรุงขวัญทหารในยามศึกสงครามก็ตาม เมื่อเสร็จศึกจากสงครามก็มักจะนำกลับคืนไปไว้ที่วัดดังเดิมเสมอ
แต่เมื่อบ้านเมืองว่างจากศึก “วัด” ได้รวบรวมเก็บบรรจุในกรุเพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของพุทธศาสนาสืบไปเพราะ “พระเครื่องสมัยก่อน” ส่วนใหญ่มักเป็นพระที่พระอาจารย์สร้างขึ้นแจกจ่ายแก่คนทั้งหลายโดยไม่คิดมูลค่า และเป็นของที่ให้เปล่าด้วยเจตนารมณ์อันดี “พระเครื่อง” จึงไม่มีราคาไม่มีการซื้อขายกันเหมือนปัจจุบัน
ในส่วน “เหรียญรูปหล่อพระเกจิ” เท่าที่ทราบสร้างขึ้นประมาณปี 2394 “อันเป็นช่วงประเทศสยามนำเข้าตะกั่วจากต่างประเทศ” เริ่มมีเหรียญกษาปณ์ผลิตขึ้นใช้ในสยามครั้งแรก ทำให้พระเกจิสมัยนั้นทำเหรียญรูปหล่อตัวเองแจกจ่ายให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือคนมีฐานะดีในสมัยนั้น

ต่อมาในปี 2424 “ประเทศแถบยุโรป” มีความนิยมสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและของแปลก ของมีค่าจากประเทศเอเชีย ตะวันออกกลาง อียิปต์ เพื่อสะสมแสดงสถานะความมั่งคั่งร่ำรวยในหมู่ชนชั้นสูง ทำให้เริ่มมีการลักลอบขุดโบราณวัตถุ ทั้งลักลอบตัดเศียรเทวรูปและพระพุทธรูปในไทย เพื่อนำไปขายให้ต่างชาติเป็นจำนวนมาก
...
สาเหตุจากสมัยก่อนนั้น “หละหลวมควบคุมดูแลรักษาโบราณวัตถุ” ทำให้เกิดการลักลอบขายโบราณวัตถุมหาศาล ดังนั้นงานระดับมาสเตอร์พีซ (Masterpiece) ล้วนตกไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติทั้งสิ้น ทำให้เริ่มมีการซื้อขายพระพิมพ์ และพระพุทธรูปหายากกัน แต่สมัยนั้นคนขายพระมักเป็นอาชีพสังคมรังเกียจ
เพราะถูกมองเป็นอาชีพขายพระกิน ทำให้ต้องลักลอบขายแบบหลบซ่อนในตลาดใต้ดิน
กระทั่งปี 2534 “พระสมเด็จ” ซื้อขายกันองค์แรกราคา 60 ล้านบาท ผู้ซื้อเป็นพ่อค้าสิงคโปร์จนเป็นกระแสข่าวกระจาย “ในวงพระเครื่องไทย” เกิดการตื่นตัวกลายเป็นธุรกิจร้านเช่าบูชาพระเครื่องเกิดขึ้นมากมาย

หนำซ้ำปัจจุบัน “อุดมคติการสร้างพระ” ก็เปลี่ยนไปอาศัยความเชื่อของบุคคลเป็นสำคัญกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ “พระเครื่องตกเป็นสินค้า” มีการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ “การสร้างพระมักมีต้นทุน” ตั้งแต่ค่าตัวพระเกจิชื่อดัง ค่าช่างหล่อพระ ค่าโฆษณา และบวกค่าความเชื่อจนพระรุ่นใหม่มีราคาสูง
กลายเป็นคำที่ว่า “สมัยสุโขทัยฆราวาสสร้างพระถวายวัด แต่ในปัจจุบันวัดกลับสร้างพระถวายฆราวาส” จนทำให้ภาครัฐต้องออกกฎระเบียบห้ามปลุกเสกพระเครื่องเด็ดขาด “ยกเว้นได้รับอนุญาต” แตกต่างจากสมัยเมื่อ 30 ปีก่อน “ใครอยากจะสร้างพระรุ่นใด” สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตด้วยซ้ำ

สุดท้ายฝากคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต” กล่าวคือ “การเห็นธรรมเมื่อไหร่ก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น” ส่วนการสร้างพระเป็นเพียงเปลือกนอกของพระพุทธศาสนา “แต่แก่นแท้ คืออริยสัจ 4 มรรค 8” ดังนั้นถ้าผู้ห้อยพระไม่เห็นข้อนี้ย่อมมองไม่เห็นพระพุทธเจ้า เช่นนี้พระองค์ไม่อาจคุ้มครองท่านได้
สิ่งนี้คือหลักสำคัญของการสร้างพระที่เป็นวัตถุแสดงถึง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเชิงพุทธศาสนา” อันมีคุณค่าทางอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นคติความเชื่อของผู้นับถือบูชาให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นพุทธคุณสูงสุดแล้ว...