• Future Perfect
  • Articles
  • "SAT-1" อาคารเทียบเครื่องบินรอง สุวรรณภูมิ โชว์เอกลักษณ์ไทย คำนึงถึงความยั่งยืน

"SAT-1" อาคารเทียบเครื่องบินรอง สุวรรณภูมิ โชว์เอกลักษณ์ไทย คำนึงถึงความยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน6 มี.ค. 2568 17:52 น.

เปิดแนวคิด "อาคาร SAT-1" อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สถาปัตยกรรมการออกแบบที่นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยคำนึงถึงความยั่งยืน

วันที่ 6 มีนาคม 2568 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้นำชมอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ อาคาร SAT-1 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2

โดยงานสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building) ซึ่งใช้เป็นระบบ Modular ที่ก่อสร้างได้รวดเร็ว และใช้วัสดุที่ดูแลรักษาได้ง่าย อีกทั้งยังคำนึงถึงการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) เพื่อช่วยให้อาคารประหยัดพลังงาน เน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ ลดการเปิดไฟ ติดอุปกรณ์กันความร้อน ติดตั้งระบบนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ มีหลุมจอดประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด Code F (เช่น A380 และ B747-8 เป็นต้น) ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด Code E (เช่น B747 และ A340 เป็นต้น) ได้ 20 หลุมจอด 

สำหรับโครงสร้างของอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร ตัวอาคารมีความสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยชั้น B2 เป็นพื้นที่สำหรับสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover Station: APM Station) ชั้น B1 เป็นพื้นที่ห้องงานระบบ ชั้น G เป็นพื้นที่สำหรับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ และพื้นที่สำนักงาน ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า รวมทั้งพื้นที่สำหรับผู้โดยสารเชื่อมต่อเที่ยวบิน ชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก มีพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง เป็นแบบ Open Gate และมีพื้นที่ร้านค้าตลอดแนวทางเดิน และชั้น 4 เป็นพื้นที่สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่ม

อาคาร SAT-1 เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันด้วยอุโมงค์ใต้ดิน โดยมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์ประกอบไปด้วย ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้า APM จำนวน 4 ช่อง ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า จำนวน 2 ช่อง และถนนให้บริการเขตการบิน จำนวน 2 ช่อง ในการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันไปยังอาคาร SAT-1 จะใช้รถไฟฟ้า APM ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบล้อยางแบบไร้คนขับในการรับส่งผู้โดยสาร ใช้ระยะเวลาในการโดยสารรวมถึงระยะเวลาที่ผู้โดยสารรอบริการที่สถานี ประมาณ 3 นาทีครึ่ง สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 179 คนต่อขบวน

สำหรับการตกแต่งภายในของอาคาร SAT-1 มีการออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลักเช่นกัน แต่ได้มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม ศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย โดยมีผลงานการตกแต่งชิ้นเอกเป็นช้างคชสารตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก

ส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และ ปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ เป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้เดินทาง นอกจากนี้ ภายในชั้น 3 ของอาคารได้รับการออกแบบให้เป็นสวน ตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อไทย อาทิ กินนร, กินรี, เหมราช และหงส์สา

ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้รับการออกแบบเป็นสวนสัญจรผ่าน จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น หุ่นละครเล็ก, หนังใหญ่, หัวโขน, ว่าวไทย เป็นต้น

อีกหนึ่งงานออกแบบที่โดดเด่นภายในอาคาร SAT-1 คือ ห้องน้ำภายในอาคารที่ได้นำเอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่นของแต่ละภาคของประเทศไทย ทั้ง 4 ภาค รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน ขณะที่สุขภัณฑ์ทั้งหมดได้ใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำ  

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ตัวอาคาร SAT-1 ไม่ได้มีพื้นที่เช็กอิน ตรวจค้น ตม. โดยเป็นพื้นที่ในส่วนผู้โดยสารพักรอก่อนจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งตัวอาคาร SAT-1 วัตถุประสงค์หลักๆ คือเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารที่เช็กอิน ตรวจค้น ตม. เสร็จสิ้น ก็จะมารอการขึ้นเครื่อง มีทั้งหมด 28 เกต สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 15 ล้านคนต่อปี

ซึ่งตั้งแต่ที่เราเปิดใช้มา ก็มีผู้ใช้เต็ม 28 เกตแล้ว ผลการตอบรับ ผู้โดยสารค่อนข้างพอใจมาก เพราะตัวอาคาร SAT-1 เนื่องจากมีความใหม่ และตัวสถาปัตยกรรมเน้นความโปร่งโล่ง ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกว่าไม่แออัด ไม่อึดอัด การที่มารอขึ้นเครื่อง หรือบางท่านมาเปลี่ยนเครื่อง ก็สามารถอยู่ได้ในระยะเวลายาวๆ อาคารนี้มีพื้นที่ทั้งหมดรวมประมาณ 250,000 ตารางเมตร นอกจากจะมีพื้นที่สะพานเทียบ 28 เกต ยังมีพื้นที่ร้านค้าอาคารเชิงพาณิชย์ต่างๆ เลานจ์สำหรับผู้โดยสาร สามารถให้ผู้โดยสารสามารถเลือกการบริการต่างๆ ได้ ซึ่งมีทั้งเลานจ์ที่เป็นห้องอาหาร เลานจ์ที่เป็นห้องพักคอยเดี่ยวๆ สำหรับผู้โดยสารแต่ละคน ซึ่งตรงนี้ทำให้ผู้โดยสารเองมีทางเลือกในการใช้บริการได้มากขึ้น

ในส่วนของการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่างๆ ตอนนี้ก็เปิดไปประมาณ 90% แล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคาร SAT-1 เราจะใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของอาคารเพื่อดำเนินการรับเสด็จ โดยอีกครึ่งหนึ่งจะยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยจะปิดโซน S101-S113

สำหรับการออกแบบของ SAT-1 มีแนวคิดการออกแบบของป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่าที่อยู่ในวรรณคดีของไทย เราต้องการแสดงความเป็นไทย ให้นักท่องเที่ยว นักเดินทางได้สัมผัส อย่างน้อย เขามาเที่ยวเมืองไทยแล้วก่อนจะจากเราไปเดินทางต่อ เขาก็จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของเรา ฉะนั้นตรงนี้จึงมีการนำเอาภาพของป่าหิมพานต์ สัตว์ที่อยู่ในวรรณคดี หรือสัตว์ที่เป็นตัวแทนของประเทศเราอย่างช้าง ก็ถือว่าเป็นไฮไลท์ของอาคาร รวมถึงกินรี กินนร หงส์

มีการออกแบบพื้นที่นั่งพักคอย ให้คนที่มาอยู่ที่นี่เขารู้สึกว่าเขาได้รับความสะดวกสบาย ไม่ได้อยู่สนามบินแล้วต้องแออัด หรือที่นั่งไม่สบาย ตรงนี้จะเป็นคอนเซปต์การดีไซน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอาคารหลังเทอร์มินอลที่เป็นคอนเซปต์เดิมประมาณ 18 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงนี้จะเริ่มเอาไอเดียมาปรับปรุง และห้องน้ำ เคยมีเสียงบ่นว่าห้องน้ำไม่ดี จึงอยากให้มาลองที่ SAT-1 ที่เราทำตรงนี้โดยใช้วัฒนธรรม 4 ภาคเข้ามาประกอบการออกแบบ สามารถพูดได้เลยว่ากล้าสู้กับระดับโรงแรม เพราะคุณภาพทัดเทียมกัน

SHARE

Follow us

  • |