วิกฤติโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง คือความท้าทายใหญ่ของชาวโลก ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมให้มากขึ้น และขยายวงสู่การเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ ทั้งซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจ ต้องทำอย่างจริงจังและเร่งด่วน
เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและการตระหนักรู้ในเรื่องความยั่งยืน “ไทยรัฐกรุ๊ป” ภายใต้การนำของ “จิตสุภา วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ลุกขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทำหนังสือ “Thairath Sustainability Report 2025 จุดเชื่อมการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยผนึกกำลังกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย
“ปี 2025 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายในการดำเนินกิจกรรมกิจการธุรกิจต่างๆในยุคที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เห็นความรุนแรง และผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ในประเทศไทยและในโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคใต้ของไทย น้ำท่วมใหญ่ในสเปน ปรากฏการณ์ภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่นไม่มีหิมะปกคลุม และมาช้าสุดในรอบ 130 ปี เราเห็นผลของความรุนแรงของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนขึ้น รุนแรงขึ้น และเราไทยรัฐกรุ๊ปอยากเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ตระหนัก และส่งผ่านแนวคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้อง และชะลอผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้
...หนังสือเล่มนี้มีแกนหลักอยู่ที่ “Sustainability Transi tioning” คือจุดเชื่อมการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมของเรื่องนี้ให้มากขึ้น และขยายวงสู่การเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ ทั้งซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจ ต้องทำอย่างจริงจัง และเร่งด่วน เรายังเห็นถึงช่องว่างการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่ต้องอาศัยทั้งทรัพยากรการดำเนินการ และองค์ความรู้สู่ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ในฐานะที่เราเป็นสื่อกลางของสังคม ไทยรัฐกรุ๊ปตระหนักถึงบทบาทหน้าที่นี้ และจะใช้จุดแข็งนี้เป็นผู้เชื่อมต่อองค์ความรู้จากธุรกิจขนาดใหญ่สู่ธุรกิจขนาดย่อม พร้อมประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์การนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในกรอบของ ESG คือ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาลร่วมกันทั้งระบบ เพื่อให้เราได้อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ และส่งมอบโลกที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป”
งานนี้ได้รับเกียรติจาก “นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร” ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Call to Action” เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาที่ไกลตัวเราอีกต่อไป แต่คือความจริงที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข ในฐานะนายกฯและในฐานะแม่ ดิฉันตั้งใจที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคนและลูกหลานของเรา ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติมาแล้วกว่า 137 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การที่เราถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ รัฐบาลได้ตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แต่นอกจากการแก้ปัญหา เฉพาะหน้าแล้ว เรายังต้องมองไปที่ปัญหาใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย
...การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลของเรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนประเทศ ไทยให้เป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเตรียมสังคมไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเราจะเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อนำพาประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.การสร้างระบบภาษีคาร์บอน, 2.ระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, 3.ปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, 4. สนับสนุนอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม, 5.สร้างกองทุนภูมิอากาศและทำ Green Taxonomy คำสัญญาจากรัฐบาลต่อคนไทยทุกคน คือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน พร้อมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างงานให้กับประชาชนทุกคน”

“นีฟ คอลิเออร์–สมิธ” ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้ร่วมแบ่งปันแนวคิดในหัวข้อ “การลงทุนในมนุษย์และโลก เพื่อโลกที่เจริญรุ่งเรืองและเสมอภาคยิ่งขึ้น” โดยระบุว่า ในเดือนกันยายน 2024 ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ลงนามใน “Pact for the Future” เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ครอบคลุม และไม่ส่งต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อไป การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 ต้องการความร่วมมือที่เหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการวัดผล, นโยบายอันท้าทาย และการไหลของเงินทุน การวัดผลต้องเปลี่ยนจากการมุ่งเน้น GDP เป็นการใช้ PHDI ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรอยเท้าวัสดุ นโยบายที่ทะเยอทะยาน เช่น การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAP) เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนด้านความยั่งยืน การปรับกระแสเงินทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนและมิติเพศภาวะเป็นสิ่งจำเป็น โดยมี INFFs เป็นกรอบเพื่อจัดการเงินทุนระดับชาติ UNDP สนับสนุนการพัฒนาคู่มือการลงทุนและเครื่องมือสำหรับธุรกิจในประเทศไทย เพื่อช่วยให้เข้าถึงโอกาสการลงทุนที่สนับสนุน SDGs เครื่องมือเหล่านี้สนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจให้เกินเป้าหมาย SDGs ในระยะสั้น และสร้างความโปร่งใสในผลกระทบของธุรกิจต่อโลก หากสามารถวัดผลสิ่งที่สำคัญ ใช้นโยบายทะเยอทะยาน และปรับกระแสเงินทุนอย่างเหมาะสม จะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และลดอคติทางเพศสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

ในฐานะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ร่วมแชร์ไอเดียในหัวข้อ “ดีไซน์เส้นทางสู่ความยั่งยืน บนบริบทประเทศไทย” ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2024 ส่งผลให้ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจากการใช้ทรัพยากรแบบเก่า (Brown Economy) ไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) เป็นเรื่องที่ท้าทาย การเปลี่ยนผ่านต้องทำให้เศรษฐกิจ “Less Brown” โดยไม่ทำให้เกิดการสะดุดต่อ SMEs ต้องมีเป้าหมายและแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ การขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจ “Less Brown” มีภารกิจสำคัญ 2 ประการ คือ การวางรากฐานที่ดี และเน้นการลงมือทำ วัดผลการดำเนินงานได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำ “Thailand Taxonomy” เพื่อกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวางนโยบายให้สถาบันการเงินต้องรวมมิติด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนจัดทำ “Stress Testing” สำหรับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ พร้อมกันนี้ยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อช่วยธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจ “Less Brown” โดยโครงการ “Financing the Transition” มีเป้าหมายให้สินเชื่อรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยธุรกิจในการปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะต้องมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน และจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม

ด้าน “ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงทัศนะในหัวข้อ “ส่งผ่านวิธีคิดเรื่องความยั่งยืนในตลาดทุน” โดยชี้ว่า ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจหมายถึงการเติบโตทางการเงินควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจต้องมีธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่งเพื่อป้องกันการทุจริต และบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับธุรกิจครอบครัวในไทยที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนราย ก็ควรเร่งปรับตัว เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตในตลาดเอเชีย และหนีกับดักที่เป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนในธุรกิจครอบครัว เช่น การขาดการวางแผนสืบทอดตำแหน่งและการสื่อสารภายในครอบครัว ธุรกิจครอบครัวไทยมีโอกาสใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโอกาสทางการค้า และมีช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่าง “ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์ เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx)” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนการพัฒนาความแข็งแกร่งภายในธุรกิจและซัพพลายเชนต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย, โปร่งใส และเป็นธรรม รวมถึงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อ SMEs และเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่ต้องร่วมกันสร้างแรงกระเพื่อมวงใหญ่ขึ้น เพื่อจะไม่ส่งต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อไป!!
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม