กสศ. จัด Equity Forum 2025 ชู "การศึกษา" เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ เด็กมี "ผลิตภาพ" ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต พาประเทศหลุดจากกับดักทางเศรษฐกิจ
วันที่ 6 ก.พ. 68 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดงาน Equity Forum 2025 งานสัมมนาทางวิชาการที่จะฉายภาพสถานการณ์และข้อค้นพบสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปี 2568 ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำของเด็กในและนอกระบบ การเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย ไปจนถึงแนวทางการลงทุนทางการศึกษาที่ตรงจุด
ในด้านความคุ้มค่าในการลงทุนสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา คุณจูสตีน จาซ หัวหน้าฝ่าย Education for Inclusion Gender Equality องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำเสนอรายงานเรื่อง "ต้นทุนของการเพิกเฉย" ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และภาครัฐ จากการที่เด็กไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งฉันเป็นตัวแทนของ UNESCO, OECD และ Commonwealth Secretariat ในการนำเสนอรายงานชิ้นนี้ ซึ่งฉันขอเริ่มด้วยคำถามที่ว่า เราจึงทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมา เพราะ UNESCO เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นอกจากปัจจัยสำคัญอื่นๆ เพื่อลดความยากจน และแก้ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก

ดังนั้น ในรายงานฉบับนี้ เราต้องศึกษาว่า หากสิทธิด้านการศึกษาไม่ได้รับการเติมเต็ม จะก่อให้เกิดต้นทุนอะไรบ้างในระดับประเทศ และทั่วโลกในภาพรวม รายงานฉบับนี้เป็นรายงานฉบับแรกที่ศึกษาต้นทุนที่เกิดขึ้นกับบุคคล รัฐบาล และสังคม จาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด และเด็กและเยาวชนที่ไม่มีทักษะพื้นฐาน ซึ่งเรานำเสนอต้นทุนเหล่านี้ โดยแยกตามองค์ประกอบของต้นทุน รวมถึงแยกตามเพศ เพื่อดูความแตกต่าง
นอกจากนี้ เรายังศึกษาผลกระทบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การทุจริต อาชญากรรม การเสียภาษี และอัตราการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยพบว่า มีเด็กชายราว 128 ล้านคน และเด็กหญิง 122 ล้านคน ที่ไม่ได้รับโอกาสเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งทั่วโลกยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดทักษะพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การอ่าน รวมไปถึงทักษะการเข้าสังคม และอารมณ์ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในชีวิต การบรรลุเป้าหมายของแผนงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 ยังคงเป็นภารกิจที่ท้าทาย ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากแผนงานนี้ไม่บรรลุเป้าหมาย จะส่งผลให้เกิดต้นทุนจำนวนมหาศาลตามมา
ซึ่งรายงานนี้เป็นครั้งแรกที่ UNESCO, OECD และ Commonwealth Secretariat ได้คำนวณต้นทุนที่เกิดจากการเพิกเฉยจากการที่เด็กออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด และขาดทักษะพื้นฐาน หรือทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่จำเป็น
โดยจากผลการศึกษา ภายในปี ค.ศ. 2030 หากเรายังคงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ เศรษฐกิจทั่วโลกจะสูญเสียเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากคาดการณ์ต้นทุนที่เกิดกับบุคคลในแต่ละปีจะมีมูลค่ามากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐาน และมากกว่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด ต้นทุนของภาครัฐในแต่ละปีจะสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐาน และมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด

ต้นทุนทางสังคมในแต่ละปีจะสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐาน และมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด การสูญเสีย GDP ในแต่ละปีจากการที่เด็กมีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ต่ำจะมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากตัวเลขมหาศาลเหล่านี้แล้ว ยังมีต้นทุนอื่นๆ อีก เช่น การเพิ่มขึ้นของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อาชญากรรม และเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม การมอบทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนมหาศาลที่เกิดจากการเพิกเฉยเหล่านี้ด้วย เราจำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพให้กับระบบการศึกษาเพื่ออนาคตของเด็กๆ
"การศึกษาเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดต่อบุคคล เศรษฐกิจ และโลกของเรา" คุณจูสตีน จาซ กล่าว
ขณะที่มิติด้านโอกาส ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากรายงานของยูเนสโก เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการศึกษา หลายประเทศมองร่วมกันว่าอยากให้เด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค บนความเท่าเทียมกัน จากข่าวหน้าสื่อเราจะเห็นว่าปี 2567 เด็กเกิดแค่ 4.6 แสนคน และจากการประเมินสัดส่วนการเกิดของเด็กในปีต่อไปข้างหน้าก็จะน้อยลง แต่สิ่งที่จะมากขึ้นคือ ฐานประชากรที่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่วัยแรงงาน และเด็กน้อยลง ซึ่งเป็นความท้าทายที่ว่า หากประเทศไทยจะยังคงมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เด็กไทยจะต้องมี "ผลิตภาพ" ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยมั่นคง ออกจากกับดักรายได้ปานกลางซึ่งเป็นความฝันของคนไทยได้ การที่จะมี "ผลิตภาพ" ทางออกที่สำคัญคือ "การศึกษา" และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาค
เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.6% ต่อปี แต่ในระหว่างปี 2553-2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเติบโตในช่วงปี 2563-2567 ลดลงมาเหลือเพียง 1.6%

หากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนสามารถลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา ได้เป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 3% ในระยะยาว อันเนื่องมาจากการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้กับเด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพและช่วยเพิ่มรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน