มหาวิทยาลัย 6 สถาบัน รวมกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ "นักสื่อสารฮักน้ำโขง" จัดกิจกรรมพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แม่น้ำโขง
วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ม.นครพนม ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาระบบนิเวศ ของแม่น้ำโขง ลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำสงคราม เกิดความเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำของ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงได้ จัดกิจกรรมพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายคนรุ่นใหม่นักสื่อสารฮักน้ำโขง 2024 : SCIENCE AND POLICY INTERFACE YOUNG PEOPLE ENGAGEMENT IN ENVIRONMENT ACTION 2024
โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนางานวิชาการร่วมกัน รวมทั้งได้พัฒนากลุ่มเยาวชนจากหลายสถาบันให้เข้ามาเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ให้เกิดทักษะในการจัดทำสื่อ เผยแพร่เนื้อหาแก่สาธารณะ เกิดการอนุรักษ์แม่น้ำโขงให้คงไว้ซึ่งระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป
จากสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง โดยพลเมืองกลุ่มเยาวชนจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงในปัจจุบัน และอนาคต จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรู้ และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและแนวทางการป้องกันผลกระทบที่กำลังเผชิญอยู่
ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวอีกว่ากิจกรรมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยวันแรกเป็นการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "สหรัฐอเมริกาและโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" รวมถึงการบรรยายจากนักวิชาการ เกี่ยวกับปัญหาสภาพน้ำโขง และลำน้ำสาขาสายหลัก ที่กำลังได้รับผลกระทบด้านระบบนิเวศ
ส่วนวันที่สองได้ลงพื้นที่ ดูสภาพปัญหาในลุ่มน้ำสงคราม เพื่อจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เป็นการนำร่องสร้างจิตสำนึก ผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขยายผลไปยังชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จะเกิดประโยชน์ต่อการช่วยกันดูแลระบบนิเวศในอนาคต.