• Future Perfect
  • Articles
  • ระบบนิเวศ "ป่าชายหาด" กำแพงกันคลื่นธรรมชาติ ลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้

ระบบนิเวศ "ป่าชายหาด" กำแพงกันคลื่นธรรมชาติ ลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้

Sustainability

ความยั่งยืน21 ส.ค. 2566 09:00 น.
  • ทำความรู้จัก "ระบบนิเวศป่าชายหาด" แหล่งพื้นที่สำคัญทางธรรมชาติที่ไม่ควรถูกมองข้าม
  • โครงสร้างของพืชที่เติบโตในป่าชายหาด และความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
  • เผยแนวทางการปฏิบัติในสังคม เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และให้ความสำคัญกับ "ระบบนิเวศป่าชายหาด"

หากพูดถึงระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีประโยชน์และมีบทบาทสำคัญ ในด้านการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต หลายๆ คนก็คงจะนึกถึง ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเลและแนวปะการัง ระบบนิเวศกลุ่มบลูคาร์บอน (Blue Carbon) ที่ถูกนำเสนอบ่อยครั้งว่า เป็นพื้นที่สำคัญ ในการช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน รวมถึงเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

แต่รู้หรือไม่ว่ามีอีกหนึ่งระบบนิเวศ ในบริเวณชายหาด ที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ "ป่าชายหาด" พื้นที่อันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จากพืชและสัตว์นานาชนิด ที่สามารถช่วยปกป้องแนวชายฝั่ง จากการกัดเซาะของคลื่นทะเล และลมพายุ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการกักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งหมุนเวียนสารอาหาร และเป็นพื้นที่กรองน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกด้วย

ระบบนิเวศ "ป่าชายหาด" คืออะไร

ป่าชายหาด หรือ Beach Forest คือ ลักษณะของป่าประเภทหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปตามชายทะเล เป็นหาดทรายเก่าน้ำท่วมไม่ถึง หรือเนินทรายริมทะเล ที่ยกตัวสูงขึ้น รวมถึงบริเวณที่เป็นหินชิดฝั่งทะเล พื้นที่ป่าอาจเป็นเพียงแนวแคบๆ หรือ กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ โดยมีดินในพื้นที่ เป็นดินทราย ที่ค่อนข้างเค็ม เนื่องจากทะเลพัดไอเค็ม (salt spray) เข้ามาตลอด เป็นบริเวณที่ผสมผสานกันระหว่างหาดทราย และป่าเขียวขจี

โดยในประเทศไทยสามารถพบป่าชายหาด ได้ทั้งชายฝั่งภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ลงไปถึงจังหวัดตราด และทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย จากจังหวัดเพชรบุรี ลงไปจนต่อเขตแดนประเทศมาเลเซีย รวมถึงเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย ส่วนในทางฝั่งตะวันตก พบตั้งแต่จังหวัดระนอง ลงไปจนถึงจังหวัดสตูล รวมไปถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ในทะเลอันดามัน

แต่เนื่องจากสังคมป่าประเภทนี้ ต้องอยู่ชิดทะเล จึงถูกทำลาย และเปลี่ยนสภาพ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านเมืองและชุมชน จนเกือบหมดสิ้น ส่วนใหญ่จึงเหลือให้เห็นเป็นเพียงหย่อมเล็กๆ ที่มีสภาพเสื่อมโทรม กระจายขาดเป็นตอนๆ บางพื้นที่ก็ขึ้นสลับกับป่าชายเลน ป่าดงดิบ หรือสังคมผาหิน 

โดยจะเหลือพื้นที่ ที่เป็นป่าชายหาดสมบูรณ์เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล ป่าชายหาดที่สวยงาม และค่อนข้างสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังมี อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา เป็นต้น

โครงสร้างของพืชที่เจริญเติบโตใน "ป่าชายหาด"

เนื่องจากพืชป่าชายหาด ต้องเติบโตบนสันดอนทรายชายฝั่ง ที่มีลักษณะโครงสร้างแปรผัน ไปตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละท้องที่ พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชทนเค็ม (halophytes) และทนความแห้งแล้งได้ (xerophytes) เพื่อปรับตัวให้สามารถเติบโต ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของธาตุอาหารในดินต่ำ โดยมีลักษณะดังนี้

  1. ใบสามารถทนไอเค็ม และช่วยลดการคายน้ำได้ดี มีชั้นเคลือบใบลื่น และทำให้ไอเกลือจับใบได้น้อย เช่น ใบของต้นจิกทะเล สารภีทะเล รักทะเล ฯลฯ
  2. ผลที่ถูกออกแบบมาให้ทนความเค็ม ลอยน้ำได้ไกลๆ เพื่อไปงอกในที่เป็นสันดอน หรือหาดทรายอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องง้อสัตว์ ให้เป็นตัวกระจายเมล็ด ผลของพืชในป่าชายหาดส่วนใหญ่ จึงมีสารอาหารสำหรับดึงดูดความสนใจของสัตว์ น้อยกว่าพืชในระบบนิเวศอื่นๆ
  3. มีรากที่พร้อมจะงอก อยู่บริเวณข้อของลำต้น ส่วนลำต้นมักเป็นข้อคดเคี้ยวแผ่กว้าง เนื่องอยู่บนพื้นทรายที่ไม่มีความมั่นคง และอาจถูกกัดเซาะให้ล้มโดยน้ำและลม เมื่อพืชดังกล่าวล้มลง ก็จะสามารถแตกรากและชูยอดใหม่ขึ้นได้ทันที

อย่างไรก็ตาม พืชที่ปรากฏในพื้นที่ป่าชายหาด จะมีทั้งที่เป็นระบบนิเวศแบบหลากหลายพันธุ์ไม้ อาทิ รังกะแท้ ตะบูน หูกวาง โพธิ์ทะเล ผักบุ้งทะเล ฯลฯ และบางพื้นที่อาจพบเพียงแค่สนทะเล (Casuarina equisetifolia) ซึ่งเป็นพืชที่มักก่อตัวในหาดทรายที่เกิดใหม่เท่านั้น

ความสำคัญของระบบนิเวศ "ป่าชายหาด"

ป่าชายหาดนั้น มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ของการเจริญเติบโตของพันธุ์พืชริมชายหาด และเป็นตัวคอยรักษาสมดุล ของระบบนิเวศชายฝั่ง กับระบบนิเวศบนบกด้วย โดยสามารถจำแนกได้ ดังนี้

  • เป็นกำแพงกันคลื่นธรรมชาติ

ป่าชายหาด จะทำหน้าที่คล้ายกับ ป่าชายเลน คือ สร้างความมั่นคงของเนินทราย และป้องกันความเสียหายของแนวชายฝั่ง จากการกัดเซาะของคลื่น พายุและลมแรง กล่าวคือ เมื่อคลื่น ลม และกระแสน้ำ พัดเข้ามาที่ชายฝั่ง จนเข้าถึงพื้นที่ป่าชายหาด  โครงสร้างรากของพืชในป่าบางชนิด ที่มีความกว้างและซับซ้อน ก็จะคลุมหน้าดิน และยึดทรายในป่านั้น ไม่ถูกพัดลงไปในทะเล จึงเป็นการลดการสูญเสียหาดทรายได้เป็นอย่างดี

  • เป็นกำแพงกันลม เพื่อพัฒนาเป็น "ป่าบนบก"

นอกจากป่าชายหาด จะกันคลื่นได้แล้ว ยังสามารถกันลมทะเล ไม่ให้พัดเข้ามาสู่ส่วนลึกของชายฝั่งได้ด้วย โดยลมไอเค็ม ที่พัดเขามาจากทะเล เมื่อปะทะกับชั้นเรือนยอดไม้ ของต้นไม้ในพื้นที่ป่า ก็จะทำให้ไอเค็มผ่านเข้ามาสู่ตัวพื้นที่ด้านในได้น้อยลง ทำให้พืชพรรณถูกไปเค็มกัดเซาะน้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีกับผืนป่าลึกด้านใน คือ ช่วยให้สามารถพัฒนาเป็นป่าบกต่อไปได้ 

  • แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ 

ป่าชายหาด เป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของพืช และสัตว์หลากหลายชนิด จึงเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนระบบนิเวศในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์สัตว์ในพื้นที่ รวมทั้งนกอพยพ และเต่าทะเล ที่อาศัยป่าเหล่านี้เพื่อทำรัง ให้อาหาร และพักผ่อน

  • ตัวกักเก็บคาร์บอนชั้นดี

ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณในป่าชายหาด จึงทำให้เป็นแหล่งพื้นที่สำคัญ ในการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภาวะโลกร้อนได้

  • สถานที่พักผ่อนหย่อนใจชั้นยอด

นอกจากนี้ ป่าชายหาด ยังเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสันทนาการสำหรับมนุษย์ เช่น การเดินป่า ดูนก และเพลิดเพลินกับทัศนียภาพอันงดงามของแนวชายฝั่ง มีคุณค่าสูงในด้านการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟู ระบบนิเวศป่าชายหาด

แม้ว่าป่าชายหาดจะมีความสำคัญ และประโยชน์มากมาย แต่ปัจจุบันกลับได้รับความสนใจ และมีการอนุรักษ์ผืนป่าดังกล่าวค่อนข้างน้อย อาจเพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีข้อมูล หรือได้รู้จักป่าชายหาดดีพอ จึงทำให้หลายคนอาจมองข้ามไป

แต่หลังจากนี้ เมื่อเราได้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายหาดมากขึ้น เราก็แค่ปรับความคิด และมุมมองต่อธรรมชาติกันใหม่ว่า ป่าทุกชนิดล้วนมีคุณค่า และหน้าที่ทางธรรมชาติในตัวของมันเองทั้งสิ้น โดยต้องช่วยกันอนุรักษ์ตามวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงการทิ้งขยะ เลือกทิ้งขยะอย่างถูกต้อง เพราะขยะที่ตกค้างตามบริเวณป่าชายหาด สามารถเป็นอันตรายต่อพืช และสัตว์ในระบบนิเวศโดยรอบได้
  2. ทำกิจกรรมอยู่ในระยะที่กำหนด ยึดเส้นทาง และทางเดินริมทะเล ที่มีเครื่องหมายไว้ เพื่อลดความเสียหายต่อพืชพันธุ์ที่บอบบางและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
  3. เคารพ และพยายามเข้าใจธรรมชาติสัตว์ป่า สังเกตสัตว์จากระยะไกล และหลีกเลี่ยงการให้อาหารพวกมัน การให้อาหารสัตว์ป่า อาจรบกวนรูปแบบการหาอาหารตามธรรมชาติของพวกมัน และอาจนำไปสู่การพึ่งพามนุษย์ได้
  4. ให้ความสำคัญกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง หากคุณมีส่วนร่วมในกิจกรรมการฟื้นฟูใดๆ อย่างเช่นการปลูกป่า แนะนำให้เลือกพันธุ์ไม้พื้นเมือง ที่ปรับให้เข้ากับระบบนิเวศของป่าชายหาดได้ดี เพราะพืชเหล่านั้นจะเป็นแหล่งอาหาร และที่พักพิงแก่สัตว์ป่าในท้องถิ่นได้
  5. ฝึกฝนการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สำหรับคนหาปลา และชาวประมงพาณิชย์ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ด้านการประมงอย่างเคร่งครัด ตกปลาอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และปกป้องสายพันธุ์สัตว์น้ำที่อ่อนแอ
  6. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อไปที่ชายหาด ให้ใช้ครีมกันแดดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารเคมีบางชนิดในครีมกันแดดทั่วไปอาจเป็นอันตรายต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล
  7. ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น เผยแพร่ความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายหาด กระตุ้นให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หากเรามีความคิดที่จะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ขอให้จำไว้เสมอว่า เพียงแค่เริ่มต้น จากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมาก ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ได้แล้ว.

อ้างอิงข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (กลช.)

SHARE
03:12

เปิดอีกมุม นาทีไฟโหมไหม้รถบัส หลังพานักเรียนมาทัศนศึกษา

Follow us

  • |