กรมการข้าว-เจียไต๋ ลงนาม MOU ร่วมมือการวิจัย พัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตข้าว เพิ่มศักยภาพในระบบการผลิต เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ 25 ก.ค. 2566 กรมการข้าว และ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตข้าว โดยมีนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว และนายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตข้าวที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพในระบบการผลิตข้าว ตลอดจนการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการงานวิจัยนวัตกรรมด้านการผลิตข้าวที่ทันสมัย เช่น ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช สารชีวภัณฑ์ เทคนิคการใช้โดรนเกษตรประสิทธิภาพสูง และแปลงต้นแบบการเกษตรผลิตข้าวอัจฉริยะ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและข้อมูลพื้นฐานด้านการปลูกข้าวจนนำไปสู่การถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง จนสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวได้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด
นายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า เจียไต๋และกรมการข้าวเราต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับวงการเกษตรของไทย โดยความร่วมมือครั้งนี้ เรามุ่งหวังที่จะพัฒนาการเพาะปลูกข้าวของไทยให้มีศักยภาพ
ผ่านความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตข้าว โดยเจียไต๋พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดการเกษตรแม่นยำในนาข้าว (Precision Agriculture) ซึ่งนอกจากการใช้โดรนการเกษตรประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังพัฒนาระบบจัดการน้ำอัตโนมัติ (Smart Fertigation) ระบบควบคุมรถไถและรถเกี่ยวอัตโนมัติ (Machinery Supervision) และแพลตฟอร์มการบริหารจัดการฟาร์ม (Farm Management Platform) ที่ครอบคลุมถึงการวิเคราะห์สุขภาพข้าว (Yield Analysis) ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลิตผล และสามารถบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า จึงช่วยลดการใช้น้ำ ปุ๋ย รวมถึงแรงงานได้
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของเจียไต๋.