ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้อง "ศรีสุข รุ่งวิสัย" อดีต ส.ว.สรรหา กับพวกรวม 14 คน คดีตุ๋นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในภาคอีสาน ร่วมลงทุนธุรกิจแชร์ลอตเตอรี่ สูญเงินกว่า 2.5 หมื่นล้าน พร้อมชงเรื่องตามเงินคืนผู้เสียหาย...
จากการที่กลุ่มตัวแทนครูในภาคอีสานรวมตัวเข้าร้องเรียนกับดีเอสไอ เมื่อ 24 ก.ค.54 กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่ง ถูกชักชวนให้นำเงินไปลงทุนในธุรกิจแชร์ลอตเตอรี่กับบริษัทเอกชน เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูง แต่ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้ได้ตามสัญญานั้น
เมื่อวันที่ 1 ส.ค.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงความคืบหน้าคดีแชร์ลอตเตอรี่ กรณีดีเอสไอสั่งฟ้อง นายศรีสุข รุ่งวิสัย อดีต ส.ว.สรรหากับพวก เป็นตัวการใหญ่ในข้อหายืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ผู้รับผิดชอบกรณีการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลอตเตอรี่ ซึ่งเกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร ปทุมธานี ราชบุรี สงขลา และเชียงราย โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าวได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล กับบริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด บริษัท ศรีโสภา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัทจัมโบ้ซัพพลาย แอนด์เซอร์วิส จำกัด รวม 3 บริษัท จำนวนรวม 18 สัญญา มีความเสียหายตามสัญญา รวมประมาณ 25,561 ล้านบาท
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิด กล่าวคือ บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศฯ และ บริษัท ศรีโสภา มาร์เก็ตติ้งฯ โดยนายศรีสุข รุ่งวิสัย กับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวงสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่างๆ ให้เข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยหลอกลวงว่าบริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศฯ และบริษัท ศรีโสภาฯ เป็นคู่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สามารถจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาถูกมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อและทำกำไรได้ โดยที่ความจริงแล้วบริษัททั้งสองไม่ได้เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากฯ ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่างๆ โดยประธานและผู้จัดการสหกรณ์หลงเชื่อ ก็ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งและจ่ายเงินล่วงหน้า (ค่าเทคอม) ให้กับนายศรีสุข ซึ่งต่อมาเมื่อนายศรีสุขรับเงินไปแล้วก็ไม่ได้มีการส่งมอบสลากกันตามสัญญา และไม่ได้มีการคืนเงินให้กับสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ได้รับความเสียหาย
นายธาริต กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดี พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษเฉพาะ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ในเบื้องต้นได้เสนอความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งหมดรวม 87 ราย คือนายศรีสุขฯ กับพวก รวมทั้งอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่างๆ แต่เมื่อ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกันว่า พยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่างๆ รวมทั้งนิติบุคคลและบุคคลอีกบางราย มีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้น และโดยพฤติการณ์ในคดียังปรากฏข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า นิติบุคคลและบุคคลบางรายเหล่านี้ยังเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเองอีกด้วย หากมีความผิดก็เป็นเรื่องทางแพ่งที่จะต้องว่ากล่าวหรือดำเนินคดีฟ้องร้องกันในทางแพ่งต่อไป จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายศรีสุขฯ กับพวก รวมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 14 ราย และสั่งไม่ฟ้องอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดต่างๆ รวมทั้งนิติบุคคลและบุคคลบางราย นอกจากนี้ยังสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีความเห็นว่าสมควรกันไว้เป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป
"ส่วนการติดตามเงินคืนผู้เสียหาย จะเป็นหน้าที่ของอัยการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้จำเลยชดใช้เงินคืนผู้เสียหาย โดยตนได้มีหนังสือถึงอัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาลในประเด็นนี้แล้ว" นายธาริต กล่าว.
...