ย้อนเส้นทาง "ทวี สอดส่อง" เส้นทางต้องแลก ก่อนถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะคุมดีเอสไอ วิเคราะห์ปมตัดไฟ "คดีฮั้วเลือก สว.”
วันนี้ 14 พ.ค. 68 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสาร เรื่องพิจารณาที่ 8/2568 กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกร้องที่ 1 และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (8) และ (5) หรือไม่ กรณีนี้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง)

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับกรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พร้อมเอกสารประกอบ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่
...

ย้อนเส้นทาง พล.ต.อ. ทวี สอดส่อง ก่อนศาลฯ ยุติดูแล ดีเอสไอ
เส้นทางก่อนศาลฯ มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจกำกับดูแลดีเอสไอ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคดีที่เกี่ยวข้องกับการฮั้วการเลือก สว. โดยเป็นการดำเนินการภายใต้การประสานงานหรือการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.
พล.ต.อ. ทวี ในการกำกับดูแลดีเอสไอในคดีนี้ ได้นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของ กกต. ในคดีฮั้ว สว.
คดีฮั้ว ส.ว. ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนและไต่สวนโดย กกต. และดีเอสไอ โดยมีการออกหมายเรียก สว. ที่เข้าข่ายให้มาชี้แจงข้อกล่าวหา การดำเนินการหลังจากนี้จะเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงการพิจารณาของ กกต. และนำไปสู่การยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต่อไป

มีการจับตาว่า พล.ต.อ. ทวี ในการกำกับดูแลดีเอสไอ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับฝั่งสายสีแดง ขณะที่คดีฮั้ว สว. ก็ถูกจับตาว่า ส.ว.บางส่วนเป็นสายสีน้ำเงิน การยุติบทบาทในครั้งนี้ คอการเมืองมองว่า อาจมีผลทำให้กลุ่มอำนาจฝั่งสีแดง ลดบทบาทในการต่อรองกับฝั่งสีน้ำเงิน และอาจกลายเป็นรองบนเวทีการเมืองต่อจากนี้ได้
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ. ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในส่วนของการกำกับดูแลดีเอสไอ และการเป็นรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกร้อง