โรค MIS-C (มิสซี) หรือชื่อเต็มๆ ว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือ ภาวะอักเสบทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นในเด็ก หลังหายจากโควิด-19 ฉะนั้น ผู้ปกครองอย่าชะล่าใจ... โปรดสังเกตอาการของลูกหลานท่านให้ดีๆ
ทั่วประเทศไทย ณ เวลานี้ (6 ต.ค. 64) มีรายงานตัวเลขของเด็กที่หายจากโควิด-19 (COVID-19) และมีอาการป่วยโรคมิสซีแล้วกว่า 30-40 ราย!!
หากถามว่า ตัวเลข 30-40 รายนี้ น่ากังวลหรือน่าวิตกไหม?
และอาการของ "โรคมิสซี" รุนแรงแค่ไหนกัน?
วันนี้... "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" มีคำตอบจาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่จะอธิบายให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ได้เข้าใจและเฝ้าระวังลูกหลานของท่าน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABOvriH2BagRSq3p.jpg)
ถ้าจำกันได้... เมื่อปีที่แล้ว (2563) ไม่ค่อยมีเด็กป่วยโควิด-19 มากนัก แต่พอมาปีนี้ (2564) ก็เริ่มมีรายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นเด็กเยอะขึ้น โดยเฉพาะระลอกหลังๆ ล่าสุด ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นเด็กมากถึงแสนกว่าราย!!
...
เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบว่า การเจอเด็กป่วยโรคมิสซี 30-40 ราย ก็จะคิดเป็นประมาณ 2 ในหมื่น หรือ 0.02%
"ถามว่าน่าตกใจหรือไม่ สัดส่วน 2 ต่อหมื่น ก็ไม่ถึงกับน่าตกใจ แต่ว่าก็เป็นภาวะที่ต้องระวังเอาไว้ เพราะเราเริ่มเจอว่า ยิ่งเด็กป่วยโควิด-19 มากขึ้น ก็จะยิ่งมีเด็กป่วยมิสซีเพิ่มขึ้นไปด้วย"
ในประเทศไทย เด็กป่วยโรคมิสซีจะมีอายุเฉลี่ยไม่มากนัก ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 10 ปี
อาการเบื้องต้น "โรคมิสซี"
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABKxrpnppz6sXddd.jpg)
อาการไข้ต่อเนื่อง (38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลา 24 ชั่วโมง) บวกกับอาการอื่นๆ เพิ่มเติม
- ปวดท้อง
- ตาแดง
- ท้องเสีย/ท้องร่วง
- เวียนศีรษะ/มึนหัว
- ผื่นตามผิวหนัง
- อาเจียน
ข้อควรรู้: ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีอาการทั้งหมดนั้นเหมือนกัน
ความเชื่อมโยงระหว่างโควิด-19 และโรคมิสซี
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABb4CnI4dtzIL4un.jpg)
ปกติแล้ว เด็กจะมีภาวะที่เป็น Multisystem Inflammatory Syndrome หรืออาการอักเสบหลายๆ อย่างเกิดขึ้นภายในร่างกายตัวเอง แม้ไม่มีเชื้อโควิด-19 ก็เกิดขึ้นได้
เมื่อก่อนจะมีอีกโรคหนึ่งเรียกว่า "โรคคาวาซากิ" (Kawasaki) ที่ปีหนึ่งๆ จะเจอสัก 100 กว่าราย ถึงเกือบ 200 ราย
โดยลักษณะของโรคคาวาซากิจะมีการอักเสบหลายๆ ระบบร่วมกัน คล้ายๆ โรคมิสซี อาการก็จะคล้ายๆ กันด้วย นั่นคือ เด็กมักจะมีไข้ ตาแดง และอาจจะมีอาเจียน ถ่ายเหลว หรืออาการอะไรต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจที่มีปัญหา
แต่ตามปกติแล้วนั้น โรคคาวาซากิเจอไม่บ่อย แต่เมื่อการมาถึงของเชื้อโควิด-19 ที่มีผลทำให้เกิดอาการอักเสบในหลายๆ ระบบ ทั้งระบบหัวใจ/หลอดเลือด ระบบประสาท ระบบของลำไส้ ซึ่งจะเรียกเป็น POST-COVID ในเด็กก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นหลังจากหายโควิด-19 แล้ว 2-4 สัปดาห์
บริเวณ "อักเสบ" ที่น่ากังวลที่สุด!
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABUT2SzLhDAbBMup.jpg)
...
"บริเวณการอักเสบที่เป็นส่วนที่น่ากังวลมากที่สุด คือ หัวใจ"
นั่นเพราะว่า อาจทำให้เด็กมีภาวะช็อกจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติได้ เพราะเป็นการอักเสบของระบบหลอดเลือด แล้วพอหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจผิดปกติ ก็จะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ แล้วก็จะช็อกได้ หรืออีกส่วน คือ หลอดเลือดเลี้ยงสมอง ซึ่งเด็กอาจมีอาการหลอดเลือดอุดตันสมอง เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้
แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบในขณะนี้ (6 ต.ค. 64) บริเวณสมองจะน้อย แต่ "หัวใจ" จะเยอะ
เมื่อใดที่ควรเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน!?
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABpvl8W2gBGPyCgM.jpg)
"บางทีผู้ปกครองอาจจะนึกไม่ถึง เด็กมีไข้ก็คิดว่าเป็นโรคอื่น ไม่ได้รีเช็ก และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมิสซี"
ผู้ปกครองต้องสังเกต ถ้าลูกหลานเคยเป็นโควิด-19 แล้วหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ อยู่ๆ เด็กกลับมามีไข้สูง เกิน 24 ชั่วโมง บวกกับมีตาแดง ถ่ายเหลว ปวดหัวมาก หรือมีอาการช็อก เช่นจะเป็นลม เพราะถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ ก็จะทำให้ช็อกหรือเป็นลมได้ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาล มีโอกาสที่จะรุนแรงได้
...
โดยส่วนใหญ่ ถ้าเริ่มมีอาการ โรงพยาบาลจะรับไว้ทันที เบื้องต้น การรักษาก็จะให้ยาต้านอักเสบ อาทิ สเตียรอยด์ เป็นต้น
ดังนั้น โปรดสังเกตอาการของลูกหลานท่าน นอกเหนือจากอาการเบื้องต้นด้านบนแล้ว หากพบการแสดงอาการบางอย่างเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที!
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอกเรื้อรัง
- การรับรู้ลดลง/ไม่ตื่นตัว
- ซีดเซียว, ซึม หรือผิวหนัง/ริมฝีปาก/เนื้อใต้เล็บช้ำ
ทั้งนี้ แพทย์อาจทำการทดสอบเพื่อความมั่นใจในการเฝ้าระวังสำหรับการอักเสบหรือสัญญาณอื่นๆ ของโรคเพิ่มเติม ผ่านวิธีการดังนี้:
- การตรวจเลือด
- เอกซเรย์หน้าอก
- อัลตราซาวนด์หัวใจ
- อัลตราซาวนด์ช่องท้อง
เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการป่วยด้วย "โรคมิสซี" (MIS-C) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤติ หรือ "ไอซียูเด็ก" (PICU)
ว่าแต่... ผู้ใหญ่มีโอกาสเป็น "โรคมิสซี" หรือไม่?
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aYmTYfSfeGLrBbABi7bCc5HMAx6BXc.jpg)
...
สำหรับผู้ใหญ่นั้นจะเป็นอาการที่เรียกว่า LONG COVID (ลอง โควิด)
"พื้นฐานของโรคโควิด คือ สามารถทำให้เกิดการอักเสบของทุกๆ ระบบได้ หลักๆ ก็หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงทุกอวัยวะ ไปเลี้ยงสมอง เลี้ยงหัวใจ เลี้ยงระบบทางเดินอาหาร เลี้ยงตับ เลี้ยงไต ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะเหล่านั้นได้ ดังนั้น อาการอักเสบลักษณะนี้เกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่คำว่า มิสซี (MIS-C) เป็นชื่อโรคที่ระบุเฉพาะเด็ก"
ข้อสำคัญที่อยากเน้นย้ำ... "โรคมิสซี" ยิ่งรักษาได้เร็ว ก็จะยิ่งปลอดภัย ตัวอย่างเช่น เมื่อเจออาการแน่นหน้าอกผิดปกติ ถ้าเราปล่อยให้หัวใจเต้นผิดปกติไปนานๆ เขาอาจจะช็อก ถ้าไม่รีบสังเกตก็อาจจะเสียชีวิตได้ แต่ถ้าถึงมือแพทย์เร็ว เข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีโอกาสหายและไม่มีภาวะอื่นสอดแทรก
ยังมีอะไรอีกบ้างที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับ "โรคมิสซี" (MIS-C)
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc89oMFLOaARiRn5eDJsjKDPlTbMBMETd.jpg)
จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ระบุว่า "โรคมิสซี" ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับโควิด-19 ยังคงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบในเด็กด้วย ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่า ทำไมเด็กบางคนถึงมีอาการป่วยโรคมิสซี และจะมีโรคอื่นๆ อีกไหม
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองทุกท่านต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะแม้จะหายป่วยโควิด-19 แล้วก็ใช่ว่าจะสบายดี หมดห่วงเสียทีเดียว ในระยะ 2-4 สัปดาห์ โปรดอย่าชะล่าใจ!.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- เรื่องที่ "คนติดเชื้อโควิด" ต้องรู้ ในห้วงวิกฤติไวรัสครองเมือง
- อาการ "Long COVID" ภัยแฝงร่างนาน 9 เดือน แม้ฉีดวัคซีนก็อาจหนีไม่พ้น
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- ตำรับยาพื้นบ้าน จาก "ใบกระท่อม" สรรพคุณเพียบ แก้ลงแดง ลดเบาหวาน
- อัปเดตสูตร "วัคซีนไขว้" ที่แต่ละชาติใช้ ประสิทธิภาพดีจริงหรือ?