"เปิดประเทศ" งวดเข้ามาทุกขณะ หลายจังหวัดนำร่องเตรียมพร้อมรับมือกันอย่างขะมักเขม้นหวังชุบชีวิตเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กลับมาสดใสได้ดังเดิม แม้ไม่เท่าก่อนเกิดโควิด-19 แต่ดีกว่าช่วง 1-2 ปีนี้ก็ยังดี...

เดิมทีแล้วแผน "เปิดประเทศ" ถ้าไม่นับวันเป๊ะๆ จากคำมั่นสัญญา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า 120 วัน เมื่อประมาณการคร่าวๆ ก็กลางเดือนตุลาคม 2564 โดยจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 70% ในจังหวัดนำร่องตามระยะที่กำหนด หรือมีคนได้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่ง ณ วันที่ 26 กันยายน 2564 ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 31,548,310 คน (*เพิ่มจากวันก่อนหน้า 62,276 คน)

ก่อนที่ต่อมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า แผน "เปิดประเทศ" จะมีอีก 3 ระยะต่อเนื่องจาก "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" (Phuket Sandbox) และ "สมุย โมเดล" (Samui Model) ที่นำร่องไปก่อนแล้ว แบ่งเป็น

ระยะที่ 2 เริ่ม 1 ตุลาคม : กรุงเทพฯ, ชลบุรี (พัทยา, อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ), เพชรบุรี (ชะอำ), ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเชียงใหม่ (อ.เมือง, อ.แม่ริม, อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า)

...

ระยะที่ 3 เริ่ม 15 ตุลาคม : ลำพูน, แพร่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, สุโขทัย, อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, อยุธยา, ระนอง, ตรัง, สตูล, สงขลา และนครราชสีมา

ระยะที่ 4 เริ่มภายใน 1-15 มกราคม 2565 : เปิด "ทราเวิล บับเบิล" ชายแดนกับเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา, ลาว และมาเลเซีย

โดยเงื่อนไขหลักๆ ของการ "เปิดประเทศ" ต้องสอดคล้องกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ กล่าวคือ ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่น้อยกว่า 70%

จนถึงตอนนี้ (27 ก.ย. 64) 5 พื้นที่นำร่องแต่เดิมนั้น ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ถึง 70% กันแล้วหรือยัง?

1) กรุงเทพฯ 3,731,128 คน > 48.5%
2) ชลบุรี (*21 ก.ย. 64) 613,922 คน > 30%
3) เพชรบุรี 160,256 คน > 45.5%
4) ประจวบคีรีขันธ์ 175,174 คน > 40.7%
5) เชียงใหม่ 384,794 คน > 22.3%

และล่าสุด (27 ก.ย. 64) ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ก็เคาะพิจารณา "เลื่อนเปิดประเทศ" ของ 5 จังหวัดนำร่องระยะ 2 จากเดิม 1 ตุลาคม ให้ขยับไปเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ระยะที่ 1 (1-30 พฤศจิกายน) รวมกับจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม เป็น 10 จังหวัด ได้แก่ 1) กรุงเทพฯ, 2) กระบี่, 3) พังงา, 4) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก), 5) เพชรบุรี (ชะอำ), 6) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง นาจอมเทียน บางเสร่), 7) ระนอง (เกาะพยาม), 8) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า), 9) เลย (เชียงคาน) และ 10) บุรีรัมย์ (อ.เมือง)

คุยกับ "ตัวแทนประชาชน" ต้องการอะไรในวัน "เปิดประเทศ"

เริ่มกันที่ นายศุรอัฐ ณรงค์ฤทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จะว่ากันด้วยความพร้อมของ "หัวหิน" ในการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

โดย "ศุรอัฐ" กล่าวยืนยันกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ถึงความพร้อม "เปิดประเทศ" ของ "หัวหิน" ที่ต่อให้ไม่เลื่อนไปเป็น 1 พฤศจิกายน กายและใจคนในพื้นที่ก็พร้อมแล้ว

"คนในพื้นที่เขาก็อยากจะเปิดประเทศกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเวลาเคอร์ฟิว ที่เดิมนั้นค่อนข้างเป็นห่วงร้านค้าต่างๆ เพราะเขาต้องทำมาหากิน เห็นใจเขา นึกภาพออกไหมครับว่า เปิดขายของตอน 6 โมงเย็น พอ 2 ทุ่ม ทุกคนก็จะรับรู้แล้วว่า โอเค...หมดเวลา"

ล่าสุด วันที่ 27 กันยายน 2564 ศบค. มีมติขยายเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็น 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

และอีกส่วนข้อเสนอที่อยากให้ "หัวหิน" ไม่ต้องเลื่อนไปเปิด 1 พฤศจิกายน แต่ให้เปิด 15 ตุลาคมนี้เลย เพราะคนในพื้นที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 70% เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมานั้น ก็ชัดเจนแล้วว่า ศบค. ยังคงให้ตามเดิม โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.)

...

"ในส่วนหัวหิน เดิมที (ณ 23 ก.ย. 64) มีข้อติดขัดปัญหาแค่การฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่ครบ 70% เท่านั้น อย่างอำเภออื่นๆ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ถึงอยู่ดี ก็เลยกำลังเร่งๆ กันอยู่"

"ศุรอัฐ" ยอมรับว่า ก่อนหน้านั้นวัคซีนโควิด-19 มาช้า ไม่ใช่ว่าคนไม่ยอมฉีด ทุกคนก็อยากจะฉีดกันหมด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาตรฐาน SHA หรือ SHA+ แน่นอนว่าเมื่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 ครบ 70% แล้ว ผู้ประกอบการทุกคนก็พร้อมอยู่แล้วกับการเปิดประเทศ เพราะทุกวันนี้ก็พยายามดำเนินการให้เข้ามาตรฐาน SHA หรือ SHA+ กันอยู่

สัญญาณดี "เศรษฐกิจหัวหิน" เริ่มฟื้น!

"ในส่วนเมืองหัวหิน ถ้าช่วงนี้ (ปลาย ก.ย.) วันเสาร์-อาทิตย์ ก็โอเค นักท่องเที่ยวเริ่มแน่นแล้ว แต่วันธรรมดาก็ยังได้อยู่ครับ หมายถึงว่าก็ยังมี แต่ยังไม่เยอะ อย่าง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าจองห้องกันถึง 70-80% บางโรงแรมก็เต็มแล้ว"

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ "ศุรอัฐ" ชี้ว่า ในช่วงเวลานี้ (ปลายปี) สำหรับเมืองหัวหินจะมีเม็ดเงินเข้ามาเยอะมาก แต่พอมาเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไป คนที่จะมาก็คงมาได้ไม่เยอะเหมือนปกติ ก็ตั้งไว้แค่พันล้านบาท

...

และยังได้วางแผนจัดงานเพื่อเป็นแคมเปญกระตุ้น "เปิดประเทศ" ช่วงปลายปีนี้ด้วย

"ปลายปีนี้ (2564) จะมีการจัดแข่งรถที่ อ.เมืองประจวบฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็จะมีการให้ต่างชาติเข้ามาได้ด้วย เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ยังต้องรอคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดพิจารณาอีกทีว่าเขาจะเห็นดีด้วยหรือไม่ สำหรับการจัดกิจกรรมประเพณีจังหวัดประจวบฯ"

อีกด้านหนึ่ง จ.อุดรธานี ที่เดิมจะได้ "เปิดเมือง" เป็นส่วนหนึ่งการเปิดประเทศในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ระยะที่ 3 (1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป) แทน

แม้จะต้องเลื่อนออกไป แต่ในแง่ "ความพร้อม" เปิดประเทศมีมากแค่ไหนแล้ว และยังต้องการอะไร?

"เราบอกทุกคนให้มีการเตรียมตัว เพราะต้องมีการเตรียมพร้อมในการเปิดเมือง รณรงค์ให้ผู้ประกอบการกับผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พยายามเร่งเรื่องนี้กันมาตลอด"

...

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ยืนยันกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า วัคซีนโควิด-19 จะเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้การเปิดเมือง หรือเปิดประเทศ เป็นไปได้อย่างปลอดภัย โดยช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า กระบวนการเดินทางมาของวัคซีนโควิด-19 ในหลายเดือนก่อนมาค่อนข้างน้อย ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดเคลื่อนตัวช้า

"ตามไทม์ไลน์... ท่านนายกฯ บอกไว้ว่า ปลายปีนี้ (2564) นี้ จะฉีดวัคซีนให้ได้ 100% ถ้าทำได้ก็คิดว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่เฉพาะ จ.อุดรฯ แต่ทั้งภาคอีสาน ก็อาจกลับมาได้ในไตรมาสแรก (2565) เลย เดิมคาดการณ์ว่าจะชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2565"

ในส่วนคณะทำงานร่างแผนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เรียกว่า "อุดร พลัส โมเดล" นั้น ก็มองว่า การจะขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวได้ ต้องฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ได้มากกว่า 70% และสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องมาในลักษณะทัวร์ ฉีดวัคซีนชนิดที่ไทยกำหนดเท่านั้น และมีเงินประกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลการตรวจหาเชื้อแบบ PCR ที่ยืนยันผลเป็นลบภายใน 70 ชั่วโมง โดยทั้งหมดนั้นจะเสนอเข้าคณะกรรมการชุดแรกอีกที เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป

ณ วันที่ 21 กันยายน 2564 จ.อุดรธานี ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 237,803 คน หรือ 15.2% ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะพื้นที่นำร่อง ก็ยังมีเวลาพอสมควรในการระดมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

สำหรับภาพรวมทั้งประเทศในเวลานี้ (27 ก.ย. 2564) ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่หลักหมื่น และการเสียชีวิตยังคงอยู่หลักร้อย แต่ยังคงต้องติดตามแนวโน้มผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลและอาการหนัก เพราะเกี่ยวข้องกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของประชาชน ที่โดยส่วนใหญ่ วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลและอาการหนัก รวมถึงเสียชีวิตด้วย

ปัจจุบัน ฉีดวัคซีนสะสมแล้ว (26 ก.ย. 2564) : 50,566,651 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 : 31,548,310 คน > 43.8%, เข็มที่ 2 : 17,891,858 คน > 24.8%, เข็มที่ 3 : 1,125,675 คน คิดเป็น 1.6% และเข็มที่ 4 : 808 คน

จากอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่เพิ่มเติมขึ้นมาในช่วงหลังนั้น (กรณีซิโนแวค 2 เข็ม) ก็มีการถกกันว่า ควรนำวัคซีนโควิด-19 ไปให้กับจังหวัด หรือพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ตามแผน "เปิดประเทศ" ฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ก่อน เพราะมีหลายจังหวัดที่แค่วัคซีนเข็ม 1 ก็ยังไปไม่ถึง 50% เสียด้วยซ้ำ โดยจาก 10 จังหวัดที่จะเปิด 1 พฤศจิกายนนี้ ภาพรวมทั้งจังหวัด ฉีดเข็ม 1 เกิน 50% มีแค่กรุงเทพฯ กับชลบุรี ฉะนั้นกรณีฉีดครบเกณฑ์ 2 เข็ม แทบไม่ต้องพูดถึง... หลายจังหวัดยังคงเนิบช้า

หากอยาก "เปิดประเทศ" แบบ 100% ไม่กั๊กๆ ทางเดียวที่จะไปให้ถึงได้ คือ การระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง.

อ้างอิง:
[1] ศูนย์ข้อมูล COVID-19, สรุปการให้บริการวัคซีน COVID-19 [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.facebook.com/informationcovid19 [27 ก.ย. 64]
[2] กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์, ผู้รับวัคซีน COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.facebook.com/prbangkok [27 ก.ย. 64]
[3] กรมควบคุมโรค, รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : https://ddc.moph.go.th/index.php [27 ก.ย. 64]
[4] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, รายงานสถานการณ์ COVID-19 ประจวบคีรีขันธ์ [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.facebook.com/ssjpcko [27 ก.ย. 64]
[5] ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, วัคซีน COVID-19 การบริหารการฉีดวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.facebook.com/chiangmaihealth [27 ก.ย. 64]
[6] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี, สถานการณ์ COVID-19 จังหวัดเพชรบุรี [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.pbro.moph.go.th [27 ก.ย. 64]