ทุกวันนี้เราอยู่กับ “โควิด-19” มาแล้วเกือบ 2 ปี โดนคลื่นไวรัสมรณะถาโถมแล้ว 3 ระลอก ระลอกแรก เราเผชิญกับปัญหาการขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” และ “เจลแอลกอฮอล์” ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย เพราะ “เชื้อไวรัสนรก” นี้มันเป็น “โรคอุบัติใหม่” ที่ไม่มีใครในโลกเคยเจอมาก่อน มันจึงยากจะรับมือ
พอมาเจอคลื่นไวรัสลูกที่ 2 จากคลัสเตอร์ “ตลาดกลางกุ้ง” ครั้งนี้ ไทยพอจะรับมือได้ เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว...
แต่เมื่อเผชิญคลื่นลูกที่ 3 จากกลุ่มแก๊งคนไฮโซ ครั้งนี้ไทยเข้าสู่วิกฤติ เพราะโดนโควิดกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ความโกลาหลได้เกิดขึ้น เมื่อมีผู้ป่วยพุ่งทะยานจากหลักร้อยสู่หลักพันหลักหมื่นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดระบบสาธารณสุขไทยแทบรับมือไม่ทัน
ในระหว่างที่เขียนสกู๊ปอยู่นี้ ผู้เขียนเองก็ต้องปรับตัวด้วยการทำงานที่บ้าน แต่ก็มีบ้างที่(จำเป็น)ต้องออกไปข้างนอกเพื่อหาอาหารประทังชีวิต และสิ่งที่เห็นคือ คนบางคนกินนอนอยู่ข้างถนน และเขาเหล่านั้นไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่รู้ว่าพกเจลแอลกอฮอล์หรือไม่ และไม่รู้ว่าติดโควิดจากใครหรือเปล่า...?
...
จากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน พบว่า ในปี 2563 มีคนที่ใช้ชีวิตบนท้องถนน หรือที่เรียกเขาว่า “คนไร้บ้าน” ใน 5 เขตกลางเมืองหลวงของไทย ได้แก่ เขตพระนคร บางซื่อ จตุจักร ปทุมวัน และสัมพันธวงศ์ รวม 4,432 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 2,623 คน ชาย 1,855 คน
คนที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนนั้น ถูกแบ่งออกเป็น ดังนี้
คนเร่ร่อน 1,702 คน
คนติดสุรา 920 คน
ผู้ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว 800 คน
ผู้ป่วยทางจิต 932 คน
คนจนเมือง 402 คน
คนไร้บ้าน 415 คน
พนักงานขายบริการอิสระ 893 คน
ครอบครัวเร่ร่อน 294 คน
และอื่นๆ
คำถามคือ คนเหล่านี้เดือดร้อนจากปัญหาโควิดบ้างไหม มีหน้ากากอนามัย หรือแมสก์ให้ใช้หรือเปล่า
คำตอบของคำถามนี้ได้มาจาก คุณจ๋า หรือ “อัจฉรา สรวารี” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน มูลนิธิที่ดูแลกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้บ้านเหล่านี้มาหลายสิบปี ซึ่งทุกๆ วันอังคาร ทางมูลนิธิจะนำอาหารไปแจกที่บริเวณริมคลองหลอด (ข้างๆ โรงแรมรัตนโกสินทร์)
คุณจ๋า พูดอย่างเสียงดังฉะฉานว่า “อย่าว่าแต่เข้าถึงการตรวจโควิดเลย แค่เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนก็เข้าไม่ถึง”
การที่ภาครัฐ หรือ กรุงเทพมหานคร ประกาศบังคับให้ทุกคนใส่แมสก์ เชื่อว่าสุดท้ายก็จะกลายเป็น “อีหรอบเดิม” ที่เหมือนการระบาดครั้งแรก ถามว่าจะไปไล่จับเขาแล้วนำไปส่งที่สถานสงเคราะห์ ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะอยู่ข้างในอาจจะอันตรายกว่าก็เป็นได้
...
“ที่ผ่านมา มูลนิธิอิสรชน นอกจากจะแจกข้าวแล้ว ก็ยังมีแจกในส่วนของหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ด้วย ถ้าเป็นบุคคลเร่ร่อนที่ไม่มีอาการป่วยทางจิตก็เชื่อว่าจะมีหน้ากากอนามัยใส่กันเกือบทุกคน เพราะอย่างน้อยพวกเขาต้องใส่เข้าเซเว่นฯ เข้าไปกดน้ำร้อน..ซื้อของ”
เอิ่ม...ฟังแล้วผู้เขียนรู้สึกเหมือนเรื่องตลกร้าย เพราะเซเว่นฯ กลายเป็นมีบทบาทมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ
เอาล่ะๆ นอกเรื่องๆ มาฟังคุณจ๋าเล่าต่อ..
สาเหตุที่ผู้ป่วยทางจิตเขาไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพราะบางคนเขาแทบไม่รับรู้อะไรแล้ว ส่วนกลุ่มคนที่มีแมสก์ ถามว่าเวลาใช้ชีวิตเขาจะเอามาใส่หรือไม่ ก็ยากจะคาดเดา
ดังนั้นเมื่อถามว่า คนกลุ่มนี้ติดโควิดหรือไม่ คำตอบคือ ไม่รู้ และยากจะคาดเดา ถามว่าใครจะเอาพวกเขาไปตรวจโควิด ยิ่งเรื่องการจะได้วัคซีนก็ยิ่งเหมือนเรื่องความฝัน เขาจะเอาโทรศัพท์ที่ไหนมาลงทะเบียน “หมอพร้อม”
ด้านหน่วยงานที่ดูแลยืนยันว่าไม่เคยปล่อยปละละเลย เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกัน โดยลงพื้นที่ล่าสุดในเดือนมีนาคม โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
...
ส่วนการเข้าถึงการตรวจโควิดและวัคซีน นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ บอกกับผู้เขียนว่า เราพยายามประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ของประชาชน
ส่วนจะเข้าตรวจได้หรือไม่ นายโชคชัย ระบุว่า ที่ผ่านมา อาสาสมัครการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) ลงพื้นที่ หากเจอคนไร้บ้าน หรือคนไร้ที่พึ่ง เราก็จะเชิญชวนให้เข้าถึงสิทธิในการตรวจ รวมไปถึงเรื่องวัคซีน
เมื่อเร็วๆ นี้ พม. และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ชวนให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิโครงการ “เราชนะ” ซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้าร่วมโครงการได้ และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขยังได้เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีน ซึ่งใครก็สามารถลงทะเบียนได้ โดยทางกรมฯ ก็จะช่วยประชาสัมพันธ์ หากช่วยให้เข้าถึงได้สิทธิการตรวจโควิด และฉีดวัคซีน ได้ ก็จะะช่วยให้ได้มากที่สุด
...
ปัญหาคือ บางคนไม่มีสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่บัตรประชาชน จะทำยังไง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ บอกว่า เฉกเช่นเดียวกับเราชนะ ตอนนั้นบางคนไม่มีสมาร์ทโฟน เราก็ประสานกับ ธ.กรุงไทย ลงพื้นที่ไปถ่ายรูปทำบัตรตรงนั้น
“หากเขาไม่มีจริงๆ เราก็จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะทางกรมฯ ไม่นิ่งนอนใจ เพราะเขาก็คือคนไทยคนหนึ่งที่ต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องระมัดระวังอย่างสูงสุด เพราะที่ผ่านมา เราลงพื้นที่ตลอด แต่พอเข้าเดือนเมษายน โควิดมันรุนแรงมาก เราจึงต้องรอดูสถานการณ์ แต่หากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดจริงๆ เราก็ต้องลงมาแก้ไข แต่ยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลย" รองโชคชัย ยืนยัน
คนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เผยว่า เท่าที่สังเกตดูพบว่า มีคนเร่ร่อนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสถานการณ์โควิดทำให้มีคนตกงานมากขึ้น
เบื้องต้น ทางเรายังไม่ได้เก็บตัวเลขตายตัวว่ามีเพิ่มขึ้นเท่าไร แต่จากการลงพื้นที่แบ่งปันอาหารทุกวันอังคารที่ริมคลองหลอด (ราชดำเนิน) ช่วงก่อนเกิดโควิด เราแบ่งปันอาหารที่ 150 ชุด ก็เพียงพอ ต่อมาโควิดเริ่มระบาดในระลอก 1+2 ต้องเพิ่มขึ้นมา 250 ชุด พอมาระลอก 3 มีคนมาขออาหารมากกว่า 400 ชุด ซึ่งก็ไม่เพียงพอ เพราะเรามีงบแค่ 300 ชุดเท่านั้น
ต้องยอมรับว่า บางคนที่มาขออาหาร บางคนก็มีที่อยู่ แต่ก็ไม่เคยเจอคนเยอะขนาดนี้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ คนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสาธารณสุขด้วย ไม่มีโอกาสได้ตรวจ รักษา แม้แต่โรคประจำตัวในช่วงภาวะปกติ
“เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเร่ร่อนหน้าใหม่ พวกเขาแตกต่างจากคนเก่าๆ เพราะไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักแค่ไหนเขาก็อยู่ได้ แต่กลุ่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เพิ่งตกงาน กลุ่มหนึ่งจะกลายเป็นคนไร้บ้าน อีกกลุ่มหนึ่งจะตัดสินใจไม่อยู่บนโลกนี้” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวอย่างเศร้าสร้อย
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะเขาให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดโควิด และทุ่มกำลังไปช่วยกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ แม้กระทั่ง พม.ที่มีหน้าที่ดูแลกลุ่มคนเหล่านี้โดยตรง ก็ทุ่มกำลังไปช่วย ด้วยการให้ใช้รถสนับสนุนไปรับผู้ป่วยโควิดไปรักษา
คำถามคือ แล้วหน้าที่ของ พม. ที่ต้องดูแลคนเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้เขาอยู่ในภาวะยากลำบากเช่นเดียวกัน พวกเขากำลังอดตายอยู่บนท้องถนน
คนไร้บ้านเหล่านี้โดยมากก็เป็นคนป่วย ส่วนมากจะเป็น “วัณโรค” ยังดีที่ยังมีการประสานงานกับโรงพยาบาลเข้ามาช่วยรักษา ส่วนรองลงมาก็จะเป็นโรคฮิต โดยเฉพาะคนสูงอายุ ได้แก่ ความดัน เบาหวาน แต่บางคนก็เป็นโรคเชิงซ้อน เช่น แผลติดเชื้อจากเบาหวาน เป็นต้น
ประเด็นเดียวกัน รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ยืนยันว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลตลอด เดือนมีนาคมเราได้ลงพื้นที่เชิญชวนกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้ามารับการช่วยเหลือที่ศูนย์คนไร้ที่พึ่งกรุงเทพ เพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เช่น ที่อยู่อาศัย ตรวจโรค ยารักษาโรค หรือการกักตัว 14 วัน โดยคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอาศัยที่หัวลำโพง ตรอกสาเก ริมคลองรัตนโกสินทร์ (ถนนราชดำเนิน)
“ส่วนเรื่องอาการป่วย พบว่าป่วยโรคความดัน เบาหวาน จำนวนมาก ส่วนวัณโรคไม่ค่อยพบ การช่วยเหลือ เราเน้นเรื่องความสมัครใจ เพราะเขาก็มีงานที่ทำ ซึ่งการลงพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมและรับความช่วยเหลือ 89 ราย ซึ่งบางคนขอกลับบ้าน เราก็จะให้เงินเพื่อใช้ส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนคนไม่มีบ้าน ก็จะมีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (จะมีการคัดกรองโควิด กักตัว)
“ปีนี้เราไม่มีงบสำหรับจัดซื้อหน้ากากอนามัย เราจึงใช้วิธีรับบริจาคจากประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ ซึ่งมีหลายบริษัทช่วยเหลือ นำมาบริจาคผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เปิดรับ โดยนำไปแจกให้กลุ่มเปราะบางและคนไร้บ้าน จากนั้นก็จะกระจายสิ่งของเหล่านี้ให้ทั่วถึงเพื่อป้องกันโควิด” รองโชคชัย กล่าวทิ้งท้าย
ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ต้องช่วยกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องการเข้าถึงสิทธิของการตรวจและวัคซีนกับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงคนไร้บ้านด้วย ถ้าละเลย อาจจะเจอ "คลัสเตอร์" ใหม่ที่ยากจะควบคุม.
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ, มูลนิธิอิสรชน, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
อ่านข่าวที่น่าสนใจ